ประเด็นน่ารู้เกี่ยวกับไวรัส SARS-CoV-2: ไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19


 ประเด็นน่ารู้เกี่ยวกับไวรัส SARS-CoV-2: ไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19


รศ.ดร.พญ.ทวิติยา สุจริตรักษ์

สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บทนำ

การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus disease 2019 หรือ COVID-19) เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ที่มีรายงานกลุ่มผู้ป่วยด้วยโรคปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุเกิดขึ้นที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน ต่อมาในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2563 ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Chinese Center for Disease Control and Prevention; China CDC) ได้ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการว่าสาเหตุของโรคปอดอักเสบดังกล่าวนั้น เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาชนิดใหม่ ที่ไม่ใช่ไวรัสซาร์ส-โควี (Severe Acute Respiratory Syndrome-Coronavirus; SARS-CoV) ซึ่งเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือโรคซาร์ส และไม่ใช่ไวรัสเมอร์ส-โควี (Middle East Respiratory Syndrome-Coronavirus; MERS-CoV) ซึ่งทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางหรือโรคเมอร์ส จึงตั้งชื่อไวรัสชนิดนี้ในตอนแรกว่า 2019-Novel Corona Virus (2019-nCoV) และในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ทาง The International Committee on Taxonomy of Viruses (ICTV) ได้ออกมาประกาศชื่อใหม่ของไวรัสว่าไวรัสซาร์ส-โควี-2 (Severe Acute Respiratory Syndrome-Coronavirus-2; SARS-CoV-2) และตั้งชื่อโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสดังกล่าวว่า โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus disease 2019; COVID-19)1 การระบาดของโรคโควิด-19 ได้กระจายเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว จากเริ่มแรกมีการระบาดแค่ในสาธารณรัฐประชาชนจีนเพียงประเทศเดียว ต่อมาได้กระจายไปยังประเทศและภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก โดยในวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2563 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก (pandemic)2 ในปัจจุบันยังคงมีผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในหลายประเทศทั่วโลกยังคงควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคไม่สำเร็จ

ไวรัสโคโรนา (Coronavirus)

ไวรัสโคโรนา เป็นไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอสายเดี่ยวที่มีเยื่อหุ้มไขมันล้อมรอบ (enveloped positive-stranded RNA virus) จัดอยู่ในตระกูล (family) Coronaviridae ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 4 สกุล (genus) ได้แก่ Alphacoronavirus, Betacoronavirus, Deltacoronavirus และ Gammacoronavirus ไวรัสโคโรนาจัดเป็นไวรัสที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มไวรัสที่มีสารพันธุกรรมอาร์เอ็นเอ (RNA virus) โดยคำว่า “โคโรนา (corona)” มาจากคำว่า “crown” ในภาษาลาติน ซึ่งแปลว่ามงกุฎ เนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดนี้เมื่อส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนจะเห็นกลุ่มของคาร์โบไฮเดรตเป็นปุ่ม (spike) ยื่นออกจากอนุภาคไวรัส ทำให้มีลักษณะคล้ายมงกุฎล้อมรอบ ในปัจจุบันไวรัสโคโรนาที่สามารถก่อโรคในคน (human coronavirus; HCoV) มีทั้งหมด 7 สายพันธุ์ ประกอบด้วย สายพันธุ์ที่ก่อโรคไม่รุนแรง จำนวน 4 สายพันธุ์ ได้แก่ HCoV-229E, HCoV-OC43, HCoV-NL63 และ HCoV-HKU1 ที่มักก่อให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน (upper respiratory tract infection) และสายพันธุ์ที่ก่อโรครุนแรง จำนวน 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ไวรัสซาร์ส-โควี (SARS-CoV) ที่ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือโรคซาร์ส ในประเทศจีนและฮ่องกง ช่วงปี พ.ศ. 2545-2546 ไวรัสเมอร์ส-โควี (MERS-CoV) ที่ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางหรือโรคเมอร์ส ในช่วงปี พ.ศ. 2555-2556 และไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ซึ่งถือเป็นไวรัสสายพันธุ์ล่าสุดที่เพิ่งค้นพบ และทำให้เกิดโรคโควิด-19 ที่มีการระบาดใหญ่ทั่วโลก (pandemic) ในปัจจุบัน3,4

ไวรัสซาร์ส-โควี-2 (Severe Acute Respiratory Syndrome-Coronavirus-2; SARS-CoV-2)

จากการศึกษารหัสพันธุกรรมและลำดับนิวคลิโอไทด์ทั้งหมดในจีโนม (whole genome sequencing) ของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 พบว่ามีลำดับนิวคลิโอไทด์ทั้งหมดประมาณ 29,903 คู่เบส และถูกจัดอยู่ในตระกูล (family) Coronaviridae สกุล (genus) Betacoronavirus สกุลย่อย (sub-genus) Sarbecovirus เช่นเดียวกับไวรัสซาร์สที่พบก่อนหน้านี้ โดยเมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการ (phylogenetic tree) พบว่าเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 มีความใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสซาร์สของค้าวคาว (bat SARS-like coronavirus) ที่พบในประเทศจีน ประมาณร้อยละ 96 และไวรัสซาร์สของมนุษย์ (SARS-CoV) ประมาณร้อยละ 80 (รูปที่ 1)4

ประเด็นน่าสนใจของไวรัส SARS-CoV-2

ไวรัสซาร์ส-โควี-2 เกิดขึ้นได้อย่างไร และเป็นไวรัสที่มนุษย์สร้างขึ้นได้หรือไม่

สมมติฐานที่ 1: ไวรัสซาร์ส-โควี-2 เป็นไวรัสที่อุบัติขึ้นมาใหม่ (มีความเป็นไปได้มากที่สุด)

ไวรัสซาร์ส-โควี-2 มีส่วนประกอบสำคัญ คือ โปรตีนตรงส่วนหนาม (spike protein) บนผิวของไวรัส ซึ่งมีรูปร่างเฉพาะเจาะจง สามารถจับกับโปรตีน angiotensin-converting enzyme 2 (ACE2) บนผิวของเซลล์มนุษย์ และทำให้ไวรัสสามารถเข้าสู่เซลล์มนุษย์ได้ โดยบริเวณของโปรตีนตรงส่วนหนาม (spike protein) ที่ทำหน้าที่จับกับโปรตีน ACE2 เรียกว่า receptor-binding domain (RBD) ซึ่งประกอบไปด้วยกรดอะมิโนมากมาย อย่างไรก็ตามมีกรดอะมิโน 6 ชนิดที่มีความสำคัญในการกำหนดความจำเพาะในการจับกันระหว่างไวรัสซาร์ส-โควี-2 และเซลล์ของมนุษย์ (รูปที่ 2) ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าการเกิด RBD ที่มีความจำเพาะกับโปรตีน ACE2 ของเซลล์มนุษย์นั้น น่าจะมีวิวัฒนาการมาจากกระบวนการคัดเลือกตามธรรมชาติ (natural selection) มากที่สุด เนื่องจาก RBD ที่ได้จากการจำลองขึ้นด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (computer-simulated RBD) ในห้องปฏิบัติการนั้น มีความแตกต่างจาก RBD ของไวรัสซาร์ส-โควี-2 ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และไม่สามารถจับกับโปรตีน ACE2 ของเซลล์มนุษย์ได้อย่างเหนียวแน่น (high affinity binding)5 ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าไวรัสซาร์ส-โควี-2 เป็นไวรัสที่อุบัติขึ้นมาใหม่มากที่สุด

สมมติฐานที่ 2: ไวรัสซาร์ส-โควี-2 เป็นไวรัสที่มนุษย์สร้างขึ้นมา (มีความเป็นไปได้น้อย)

ในปัจจุบันสมมติฐานที่ว่า ไวรัสซาร์ส-โควี-2 เป็นไวรัสที่มนุษย์สร้างขึ้นมา (man-made virus) มีความเป็นไปได้น้อย เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ได้มีความพยายามที่จะจำลองไวรัสซาร์ส-โควี-2 ที่มีศักยภาพในการติดเชื้อและเข้าสู่เซลล์มนุษย์ได้สูงในห้องปฏิบัติการด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แต่พบว่าลักษณะของ RBD ที่ได้นั้น มีความแตกต่างจาก RBD ของไวรัสซาร์ส-โควี-2 ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และในทางกลับกันเมื่อนำ RBD ของไวรัสซาร์ส-โควี-2 ที่มีความสามารถในการจับกับโปรตีน ACE2 ของเซลล์มนุษย์ได้อย่างเหนียวแน่น (high affinity binding) มาทดสอบโดยโปรแกรมจำลองทางคอมพิวเตอร์ พบว่า RBD ดังกล่าว ไม่สามารถจับกับเซลล์ของมนุษย์ได้ (ซึ่งตรงข้ามกับความเป็นจริง) นอกจากนั้นนักวิทยาศาสตร์ยังพบว่าไวรัสซาร์ส-โควี-2 นั้น มีโครงสร้างหลักที่มีความชัดเจนและจำเพาะเจาะจงมาก (distinct backbone) ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้น้อยที่ไวรัสซาร์ส-โควี-2 จะเป็นไวรัสที่มนุษย์สร้างขึ้นมา5

สมมติฐานที่ 3: ไวรัสซาร์ส-โควี-2 เกิดจากการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาชนิดอื่นๆ ที่สามารถก่อโรคในมนุษย์ได้ (มีความเป็นไปได้น้อย)

ด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน พบว่าสมมติฐานที่ว่าไวรัสซาร์ส-โควี-2 เกิดจากการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาชนิดอื่นๆ ที่สามารถก่อโรคในมนุษย์ (other human coronaviruses) นั้น มีความเป็นไปได้น้อย เนื่องจากโครงสร้างหลักของไวรัสซาร์ส-โควี-2 นั้น มีความชัดเจนและจำเพาะเจาะจงมาก (distinct backbone) ดังที่กล่าวไปแล้วเบื้องต้น และร่องรอยทางพันธุกรรมของไวรัสชนิดนี้ มีความแตกต่างกับไวรัสโคโรนาที่สามารถก่อโรคในมนุษย์ชนิดอื่นๆ เป็นอย่างมาก กล่าวคือ แตกต่างจากไวรัสซาร์ส-โควี (SARS-CoV) ที่ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือโรคซาร์ส มากถึงร้อยละ 20 และแตกต่างจากไวรัสซาร์สของค้าวคาว (bat SARS-like coronavirus) ประมาณร้อยละ 4 (คิดเป็นประมาณ 800 นิวคลีโอไทด์)4 ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการวิวัฒนาการตามธรรมชาติ (natural evolution) ประมาณ 50 ปีเป็นอย่างน้อย จึงจะได้ไวรัสที่มีลักษณะเหมือนกับไวรัสซาร์ส-โควี-2 ที่พบในปัจจุบัน ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้น้อยมากที่ไวรัสซาร์ส-โควี-2 จะเกิดจากการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาชนิดอื่นๆ ที่สามารถก่อโรคในมนุษย์ได้


การอุบัติใหม่ของไวรัสซาร์ส-โควี-2

จากการศึกษาของ Andersen และคณะ (2020) ได้มีการตั้งสมมติฐานของการอุบัติใหม่ของไวรัสซาร์ส-โควี-2 ไว้ 2 สมมติฐาน5 ดังนี้


สมมติฐานที่ 1: การคัดเลือกตามธรรมชาติในสัตว์ก่อนถ่ายทอดมาสู่มนุษย์ (Natural selection in an animal host before zoonotic transfer)

เนื่องจากผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 กลุ่มแรกในประเทศจีนมีประวัติเกี่ยวข้องกับตลาดค้าสัตว์ในเมืองอู่ฮั่น ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าสัตว์ที่เป็นแหล่งต้นตอของไวรัสซาร์ส-โควี-2 นั้น อาจมาจากสัตว์ในพื้นที่ดังกล่าว โดยจากหลักฐานในปัจจุบันเชื่อว่าค้างคาวเป็นสัตว์ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะเป็นแหล่งต้นตอของการอุบัติใหม่ของไวรัสชนิดนี้ เนื่องจากเมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการ (phylogenetic tree) พบว่าไวรัสซาร์ส-โควี-2 มีความใกล้เคียงกับไวรัสซาร์สของค้าวคาว (bat SARS-like coronavirus) ประมาณร้อยละ 964 อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาเพิ่มเติมแล้ว พบว่าลำดับของกรดอะมิโนทั้ง 6 ชนิด บน RBD ของไวรัสซาร์สของค้าวคาว มีความแตกต่างจากของไวรัสซาร์ส-โควี-2 ดังนั้นไวรัสซาร์สของค้าวคาวไม่น่าจะสามารถก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ได้โดยตรง เนื่องจาก RBD ไม่สามารถจับกับโปรตีน ACE2 บนผิวเซลล์มนุษย์ได้ดี ดังนั้นแสดงว่าไวรัสซาร์สของค้าวคาวต้องมีการคัดเลือกตามธรรมชาติในสัตว์ตัวกลาง (intermediate host) ก่อน เพื่อเพิ่ม polybasic cleavage site ในโปรตีนตรงส่วนหนาม (spike protein) ของไวรัส รวมทั้งปรับเปลี่ยน RBD ให้สามารถจับกับโปรตีน ACE2 บนผิวของเซลล์มนุษย์ได้ดีที่สุด ก่อนที่จะถ่ายทอดโรคมาสู่มนุษย์ (zoonotic infection) ทั้งนี้ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานยืนยันที่แน่ชัดว่าสัตว์ตัวกลางนั้นเป็นสัตว์ชนิดใด แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นลิ่นซุนดา (Malayan pangolin, Manis javanica)5


สมมติฐานที่ 2: การคัดเลือกตามธรรมชาติในมนุษย์ภายหลังจากที่ไวรัสถ่ายทอดจากสัตว์มาสู่มนุษย์แล้ว (Natural selection in humans following zoonotic transfer)

สมมติฐานนี้เชื่อว่าการคัดเลือกตามธรรมชาติของไวรัสซาร์ส-โควี-2 ได้แก่ การเพิ่ม polybasic cleavage site ในโปรตีนตรงส่วนหนาม (spike protein) ของไวรัส รวมทั้งปรับเปลี่ยน RBD เพื่อให้ไวรัสสามารถจับกับโปรตีน ACE2 บนผิวของเซลล์มนุษย์ได้ดีนั้น เกิดขึ้นหลังจากที่ไวรัสซาร์ส-โควี-2 ถ่ายทอดมาสู่มนุษย์แล้วแต่ยังไม่ก่อให้เกิดโรคหรืออาการผิดปกติ (undetected human-to-human transmission) โดยหลังจากที่ไวรัสมีวิวัฒนาการเพิ่มเติมทำให้สามารถเข้าเซลล์มนุษย์ได้ดีแล้วนั้น จึงทำให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างตามมา ทั้งนี้หากสมมติฐานนี้เป็นจริง แสดงว่าการอุบัติใหม่ของไวรัสซาร์ส-โควี-2 รวมถึงการถ่ายทอดของเชื้อไวรัสชนิดนี้จากสัตว์มาสู่มนุษย์ในช่วงแรกนั้น อาจเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ถึงต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 25625


ไวรัสซาร์ส-โควี-2 มีการกลายพันธุ์หรือไม่ และมีผลกระทบอย่างไรบ้าง

เนื่องจากไวรัสซาร์ส-โควี-2 เป็นไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอ (RNA virus) จึงมีโอกาสกายพันธุ์ (mutation) ได้สูงมาก ในปัจจุบันการกลายพันธุ์ที่มีความสำคัญทางระบาดวิทยา คือ การกลายพันธุ์ของสารพันธุกรรมเพียงตำแหน่งเดียว (single nucleotide mutation) ตรงตำแหน่งที่ 614 ทำให้กรดอะมิโนเปลี่ยนแปลงจาก aspartate (D) เป็น glycine (G) หรือที่เรียกว่าการกลายพันธุ์แบบ D614G โดยไวรัสซาร์ส-โควี-2 สายพันธุ์ดังกล่าวได้แพร่กระจายไปทั่วโลกในเวลาอันรวดเร็ว และกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน (รูปที่ 3)6,7 ทั้งนี้ไวรัสซาร์ส-โควี-2 ที่มีการกลายพันธุ์แบบ D614G นั้น จะสามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ดีกว่า (more infectious) เนื่องจากไวรัสสามารถจับกับโปรตีน ACE2 และเข้าสู่เซลล์มนุษย์ได้ดีขึ้น7,8 นอกจากนี้ไวรัสที่มีการกลายพันธุ์ดังกล่าวยังสามารถแพร่กระจายและติดต่อได้ดีขึ้น (more transmissible) เนื่องจากมีหลักฐานทางการแพทย์แสดงให้เห็นว่าปริมาณของไวรัสชนิดกลายพันธุ์แบบ D614G จะเพิ่มมากขึ้นในเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบนของมนุษย์ ทำให้มีการแพร่กระจายของไวรัสได้ดียิ่งขึ้น9 อย่างไรก็ตามการกลายพันธุ์ของไวรัสดังกล่าว ไม่ทำให้ไวรัสสามารถหลบหนีจากภูมิคุ้มกันชนิด neutralizing antibody ที่ร่างกายสร้างขึ้นมาได้ เนื่องจากตำแหน่งของการกลายพันธุ์ไม่ได้อยู่บน RBD ของโปรตีนตรงส่วนหนาม (spike protein) ของไวรัส ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เป็นเป้าหมายของ neutralizing antibody7 และไม่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 (หากมีการพัฒนาสำเร็จ) เนื่องจากภูมิคุ้มกันโรคที่สร้างขึ้นต่อไวรัสสายพันธุ์ที่นำไปผลิตวัคซีนสามารถข้ามมาป้องกัน (cross protection) ไวรัสที่มีการกลายพันธุ์แบบ D614G ได้ด้วย7,10


สรุป

ไวรัสซาร์ส-โควี-2 เป็นไวรัสที่มีการอุบัติใหม่ และสามารถก่อโรคโควิด-19 ในมนุษย์ได้ ในปัจจุบันพบการกลายพันธุ์ของไวรัสไปแล้ว อย่างไรก็ตามองค์ความรู้ทางด้านไวรัสวิทยาของเชื้อไวรัสชนิดนี้ ยังคงต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่องต่อไป


เอกสารอ้างอิง

1. World Health Organization. Naming the coronavirus disease (COVID-19) and the virus that causes it [Internet]. 2020 [cited 2020 November 9]. Available from: https://www.who.int/emergencies/diseases/novel-coronavirus-2019/technical-guidance/naming-the-coronavirus-disease-(covid-2019)-and-the-virus-that-causes-it

2. World Health Organization. WHO Director-General's opening remarks at the media briefing on COVID-19 - 11 March 2020 [internet]. 2020 [cited 2020 November 9]. Available from: https://www.who.int/dg/speeches/detail/who-director-general-s-opening-remarks-at-the-media-briefing-on-covid-19---11-march-2020

3. Li X, Luk H, Lau S, Woo P. Human coronavirus: General features. Reference Module in Biomedical Sciences. 2019: B978-0-12-801238-3.95704-0.

4. Zhou P, Yang XL, Wang XG, et al. A pneumonia outbreak associated with a new coronavirus of probable bat origin. Nature. 2020;579:270-3.

5. Andersen KG, Rambaut A, Lipkin WI, Holmes EC, Garry RF. The proximal origin of SARS-CoV-2. Nat Med. 2020;26(4):450-2.

6. Korber B, Fischer WM, Gnanakaran S, et al. Tracking changes in SARS-CoV-2 spike: Evidence that D614G increases infectivity of the COVID-19 virus. Cell. 2020;182(4):812-827.e19.

7. Callaway E. The coronavirus is mutating - does it matter? Nature. 2020;585(7824):174-7.

8. Zhang L, Jackson CB, Mou H, et al. The D614G mutation in the SARS-CoV-2 spike protein reduces S1 shedding and increases infectivity. https://doi.org/10.1101/2020.06.12.148726.

9. Plante JA, Liu Y, Liu J, et al. Spike mutation D614G alters SARS-CoV-2 fitness and neutralization susceptibility. doi: https://doi.org/10.1101/2020.09.01.278689.

10. Weissman D, Alameh MG, de Silva T, et al. D614G spike mutation increases SARS CoV-2 susceptibility to neutralization. doi: https://doi.org/10.1101/2020.07.22.20159905.


รูปที่ 1  ลักษณะข้อมูลทางพันธุกรรม (genome characterization) ของไวรัสซาร์ส-โควี-2
Picture1_2.png
คัดลอกจากเอกสารอ้างอิงที่ 4 

รูปที่ 2  ลักษณะโปรตีนตรงส่วนหนาม (spike protein) ของไวรัสซาร์ส-โควี-2
Picture2.png
คัดลอกจากเอกสารอ้างอิงที่ 5 


รูปที่ 3  การกลายพันธุ์ของไวรัสซาร์ส-โควี-2
Picture3.png
คัดลอกจากเอกสารอ้างอิงที่ 6