COVID 19: IMMUNITY PASSPORT


พญ.นุจรีนารถ คูหาเกษมสิน
สถานเสาวภา สภากาชาดไทย

สถานการณ์ของโรคโควิด 19 ที่กำลังระบาดไปทั่วโลก ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละ 316,348 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 6,037 รายต่อวัน (ข้อมูล ณ วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2563) ทำให้ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องบังคับใช้มาตรการการแพร่เชื้อโรคอย่างจริงจัง เช่น การจำกัดการเดินทาง การปิดด่านพรมแดนระหว่างประเทศ การปิดเมือง และการกักกันตัว ทำให้ผู้ประกอบการต่างๆ ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ นำไปสู่การเลิกจ้าง ภาวะว่างงาน การปิดกิจการ รวมถึงการล้มละลาย ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และสังคมเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดแนวความคิด การออกเอกสาร Immunity passport หรือ Risk-free certificate ให้แก่ผู้ที่หายจากโรคโควิดแล้ว เพื่อให้ใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยไม่ต้องเสี่ยงกับการติดโรคซ้ำหรือแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น ซึ่งคล้ายกับการออกหนังสือรับรองการฉีดวัคซีนไข้เหลือง ซึ่งเป็นเอกสารทางราชการ เพื่อให้นักเดินทางเข้าพื้นที่โรคไข้เหลืองได้อย่างปลอดภัย และไม่สามารถนำเชื้อมาแพร่ต่อได้

หลักการScreen_Shot_2563_10_11_at_17.18.22.png

หลักการของแนวคิดนี้คือ ผู้ที่หายจากโรคโควิด 19 จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด ซึ่งภูมิคุ้มกันนี้สามารถป้องกันการติดเชื้อซ้ำ และจะไม่สามารถนำเชื้อไปแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้อีกต่อไป โดยเอกสารนี้จะรับรองว่าบุคคลนั้นๆ มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด 19 ผู้ที่ถือเอกสารนี้สามารถเดินทางเข้าออกสถานที่ต่างๆ ได้ สามารถผ่านด่านพรมแดนเพื่อเข้าออกประเทศได้ สามารถทำงาน หรือใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการป้องกันโรค เช่น การกักตัวเป็นเวลา 14 วัน หรือการตรวจหาเชื้อโรคก่อนการเดินทาง เป็นต้น

ข้อดีและข้อเสีย

ข้อดีของการออกเอกสารนี้คือการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ ให้มีการจ้างงาน ให้ผู้คนเดินทางได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะเพื่อการท่องเที่ยว ทำงาน เรียน หรือกีฬา นอกจากนี้ผู้ที่ถือเอกสารนี้ยังสามารถทำงานที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโควิด 19 เช่น งานที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย หรือสัมผัสกับผู้สัมผัสเสี่ยงสูง (high risk contact case) ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงลดปริมาณการใช้อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อได้ โดยเฉพาะในภาวะที่ขาดแคลน

อย่างไรก็ตามการออกเอกสารนี้อาจก่อให้เกิดผลเสียได้เช่นกัน โดยผู้ที่ถือเอกสารนี้อาจเข้าใจผิดว่าตนเองจะไม่มีทางติดเชื้อโควิดอีกแล้วในอนาคต ซึ่งอาจทำให้ลดความระมัดระวังในการป้องกันการติดเชื้อทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น สำหรับผู้ที่ไม่มีเอกสาร อาจจะพยายามทำให้ตัวเองติดเชื้อเพื่อที่จะได้ถือเอกสารนี้ ได้รับการจ้างงาน และเดินทางได้ตามปกติ ซึ่งอาจจะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อ จำนวนผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล และจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นได้

ข้อจำกัด

แนวคิดนี้ได้ถูกคัดค้านโดยองค์การอนามัยโลก และผู้เชี่ยวชาญจากหลายประเทศ เนื่องจากโรคโควิด 19 เป็นโรคอุบัติใหม่ ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์เป็นที่ประจักษ์ชัดเพียงพอว่าผู้ที่หายจากโรคแล้วจะไม่เป็นโรคซ้ำอีก จากรายงานพบว่าผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรืออาการไม่รุนแรงซึ่งถือเป็นส่วนใหญ่ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด จะตรวจพบระดับภูมิคุ้มกันในเลือดได้น้อยกว่าผู้ที่อาการหนัก นอกจากนี้ยังมีรายงานการติดเชื้อซ้ำในผู้ป่วยรายเดิม รวมถึงรายงานเรื่องการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส

สำหรับผู้ที่ตรวจพบภูมิคุ้มกันในเลือดแล้ว ยังคงมีคำถามตามมา เช่น มาตรฐานของวิธีการตรวจทางห้องปฏิบัติการแต่ละแห่ง ความไวและความจำเพาะต่อเชื้อ ค่าระดับภูมิคุ้มกันที่ป้องกันการติดเชื้อได้ (protective level) การป้องกันโรคข้ามสายพันธุ์ในกรณีที่เชื้อมีการกลายพันธุ์ (cross protection) และที่สำคัญคือระยะเวลาในการป้องกันโรค จากรายงานระดับภูมิคุ้มกันในเลือดในวันที่ 37 และ 86 หลังจากเริ่มมีอาการแสดง พบว่าค่าครึ่งชีวิตของระดับภูมิคุ้มกันอยู่ที่เพียง 36 วัน ดังแสดงในรูปที่ 1

Picture1.png

เอกสารนี้ได้ถูกนำมาใช้จริงแล้วในบางประเทศเช่น ชิลี อังกฤษ เยอรมัน เอสโทเนีย เป็นต้น ภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง เช่น ที่ประเทศชิลี มีการอนุมัติเอกสารนี้ให้แก่ผู้ที่หายจากโรคโควิด เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เช่น สามารถทำงานที่เสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อโควิดสูง รวมถึงการช่วยดูแลผู้สูงอายุในละแวกบ้าน โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ที่ถือเอกสารนี้ยังต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวเองในที่ชุมชนอย่างเคร่งครัด และเอกสารนี้จะมีอายุนาน 3 เดือน หลังจากพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้วจะถือว่ามีความเสี่ยงเท่ากับประชาชนทั่วไป

สรุป

โรคโควิด 19 ที่กำลังระบาดไปทั่วโลก ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล การใช้ใบรับรองภูมิคุ้มกันในผู้ที่หายจากโรคแล้วอาจมีประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ ข้อมูลของโรคนี้ยังมีไม่เพียงพอที่จะยืนยันว่าผู้ที่เคยติดเชื้อแล้วจะไม่เป็นซ้ำอีก รวมถึงผู้ที่มีใบรับรองอาจลดหย่อนความระมัดระวังในการป้องกันตนเอง ซึ่งอาจทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นได้

เอกสารอ้างอิง

1. World Health Organization. “Immunity passports” in the context of COVID-19 [Internet]. 2020 [cited 2020 September 16]. Available from: https://www.who.int/news-room/commentaries/detail/immunity-passports-in-the-context-of-covid-19.
2. Jo Waller, G James Rubin, Henry W W Potts, et al. Immunity Passports for SARS-CoV-2: an online experimental study of the impact of antibody test terminology on perceived risk and behaviour. medRxiv 2020.05.06.20093401. doi: https://doi.org/10.1101/2020.05.06.20093401
3. Zhao J, Yuan Q, Wang H, et al. Antibody responses to SARS-CoV-2 in patients of novel coronavirus disease 2019 [published online ahead of print, 2020 Mar 28]. Clin Infect Dis. 2020;ciaa344. doi:10.1093/cid/ciaa344
4. Fan Wu, Aojie Wang, Mei Liu, et al. Neutralizing antibody responses to SARS-CoV-2 in a COVID-19 recovered patient cohort and their implications. medRxiv 2020. 03.30.20047365. doi: https://doi.org/10.1101/2020.03.30.20047365
5. Long, Q., Tang, X., Shi, Q. et al. Clinical and immunological assessment of asymptomatic SARS-CoV-2 infections. Nat Med 26, 1200–1204 (2020). https://doi.org/10.1038/s41591-020-0965-6
6. F. Javier Ibarrondo, Jennifer A. Fulcher, M.D., David Goodman-Meza, et al. Rapid Decay of Anti–SARS-CoV-2 Antibodies in Persons with Mild Covid-19. N Engl J Med. 2020; 383:1085-1087. DOI: 10.1056/NEJMc2025179
7. Roy S. COVID-19 Reinfection: Myth or Truth? [published online ahead of print, 2020 May 29]. SN Compr Clin Med. 2020;1-4. doi:10.1007/s42399-020-00335-8