เป็นหวัดเจ็บคอ รักษาด้วยยาปฏิชีวนะจริงหรือ?


ช่วงนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในฤดูฝน ฝนตกเกือบทุกวัน เด็กๆหลายคนก็ไม่สบายมีอาการไอ เจ็บคอ ไปหาหมอที่คลินิกทีไร ก็ได้ยา “ปฏิชีวนะ” มากินตลอด กินไปบางทีก็ยังไม่หาย ไอไม่หยุดเป็นสัปดาห์ บางทีกินสองวันดีขึ้นจึงเลิกกิน บางครั้งกินบ้างลืมบ้างก็มี แล้วจริงๆยาปฏิชีวนะสามารถรักษาไข้หวัดคออักเสบได้จริงหรือ? บทความนี้จะช่วยให้คำตอบได้


สาเหตุของอาการเจ็บคอ เกิดจากอะไร?
อาการคออักเสบเกิดได้ทั้งจากการติดเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย โดยในเด็กเล็ก มักมีสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสถึงร้อยละ 75-80 เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดอาการไอ เจ็บคอมีหลายตัว ได้แก่ อะดีโนไวรัส (adenovirus), เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus), เชื้อไข้หวัดใหญ่ (influenza), พาราอินฟูเอนซ่า (parainfluenza), ไรห์โนไวรัส (rhinoviruses)

ส่วนเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุหลัก ได้แก่ สเตรปโตคอคคัสกรุ๊บเอ (group A streptococci) พบเป็นสาเหตุอันดับหนึ่ง (ร้อยละ 20-30) ของการติดเชื้อแบคทีเรียที่คอ เชื้อแบคทีเรียอื่นๆ พบได้น้อย ได้แก่ Mycoplasma pneumonia, Chlamydophila


อาการของไข้หวัดมีอะไรได้บ้าง?
ส่วนใหญ่มักมีอาการปวดเมื่อย เพลีย อาจมีไข้ มีอาการไอ มีน้ำมูก และมีอาการเจ็บคอ บางรายไม่มีอาการไอน้ำมูก มีแต่อาการไข้เจ็บคอเฉียบพลัน อาจคลำพบต่อมน้ำเหลืองที่คอโต หรือตรวจพบต่อมทอนซิลโต มีจุดหนองบนต่อมทอนซิล


เราจะทราบได้อย่างไรว่าเป็นหวัดเจ็บคอจากเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย?

ส่วนใหญ่การเป็นหวัดเจ็บคอมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสดังที่กล่าวข้างต้น แต่ประวัติบางอย่างหรืออาการบางอย่างก็ทำให้นึกถึงคออักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียดังรูปที่ 1 และ ตารางที่ 1

111.jpg
รูปที่ 1



ตารางที่ 1
 สเตรปโตคอคคัสกรุ๊บเอ ไวรัส 
• อาการเกิดทันที
• อายุ 5-15 ปี (มักไม่พบก่อนอายุ 3 ปี)
• มีไข้ • คออักเสบและทอนซิลอักเสบ
• ทอนซิลมีหนอง
• มีจุดเลือดออกที่เพดานปาก
• ต่อมน้ำเหลืองที่คอด้านหน้าอักเสบ เจ็บ
• เป็นในช่วงฤดูหนาว
• มีประวัติใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ทราบว่าติดเชื้อ
  สเตรปโตคอคคัสกรุ๊ปเอมาก่อน
• มีตาแดง เยื่อบุตาอักเสบ
• มีน้ำมูก คัดจมูก ไอจาม
• ท้องเสีย
• มีผื่น
 • มีแผลในปาก


การรักษาไข้หวัดเจ็บคอมีอะไรบ้าง?
หากเป็นการติดเชื้อไวรัส สามารถรักษาตามอาการได้ เพราะไม่มียาฆ่าไวรัสหวัด ยกเว้นไข้หวัดใหญ่ ซึ่งแพทย์อาจให้ถ้าสงสัย ร่างกายของเรามีภูมิต้านทานที่จะใช้กำจัดเชื้อไวรัส การรักษาตามอาการก็เหมือนเป็นแค่ “ตัวช่วย” บรรเทาอาการ ขณะที่ภูมิต้านทานของเรากำลังกำจัดเชื้อ จะเห็นว่ายาปฏิชีวนะไม่ใช่ “พระเอก” ในการรักษาเพราะไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัส ยาบรรเทาอาการได้แก่ให้ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอละลายเสมหะ ฯลฯ ที่สำคัญต้องนอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อให้ภูมิต้านทานของเรามีพละกำลัง ดื่มน้ำมากๆ โดยทั่วไปอาการจะสามารถหายได้เอง ไม่ต้องใช้ยาใดๆ โดยจะดีขึ้นภายในหนึ่งสัปดาห์ 

หากเป็นจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ เชื้อสเตร็ป โดยมีอาการดังตาราง ในกรณีนี้เองที่ยาปฏิชีวนะ จะมีบทบาทในการเป็นผู้ช่วยขัดขวางแบคทีเรียตัวร้ายและทำลายเชื้อ ร่วมกับภูมิต้านทานของตัวเราเอง โดยหากต้องกินยาปฏิชีวนะควรกินด้วยขนาดและเวลาตามที่แพทย์แนะนำ ไม่กินๆหยุดๆเอง 


ยาปฏิชีวนะต่างกับยาแก้อักเสบหรือไม่?
ยาปฏิชีวนะ (antibiotics) หรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่ใช่ยาแก้อักเสบ (anti-inflammatory drugs) อย่างที่หลายๆคนมักจะเรียกแทนกันด้วยความเข้าใจคร่าวๆว่า เมื่อฆ่าเชื้อแล้วจะทำให้การอักเสบลดลง แต่ที่จริงแล้วยาปฏิชีวนะหมายถึงยาที่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ โดยแบคทีเรียแต่ละกลุ่มก็จะตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะแตกต่างกัน ตัวอย่างยาปฏชีวนะเช่น อะม็อกซีซิลลิน เพนนิซิลลิน ในขณะที่ยาแก้อักเสบคือยาที่ใช้ลดอาการอักเสบของร่างกาย เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ตัวอย่างยาที่ใช้กันบ่อยๆเช่น ยาพาราเซตามอล ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน


เมื่อไหร่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ในการรักษาโรคหวัด เจ็บคอ
โรคหวัดส่นใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ดังนั้นยาปฏิชีวนะซึ่งฆ่าเชื้อแบคทีเรียจึงไม่ทำให้หายเร็วขึ้น (เว้นแต่จะเป็นโรคเจ็บคอที่เกิดจากเชื้อสเตร็ปมีอาการดังข้างต้นเท่านั้น ที่จะได้ประโยชน์จากยาปฏิชีวนะ)  อย่างไรก็ดี หลายๆครั้งโรคหวัดที่จากเชื้อไวรัสนี้ มีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม ซึ่งอาจต้องการยาปฏิชีวนะในการรักษา เช่นกรณีที่เกิดเป็นหูอักเสบ หรือไซนัสอักเสบ ซึ่งควรต้องให้แพทย์วินิจฉัย ก่อนจะใช้ยาปฏิชีวนะ


หากให้ยาปฏิชีวนะโดยไม่มีข้อบ่งชี้เกิดผลเสียอย่างไร?
ยาปฏิชีวนะหลายตัวมีผลข้างเคียงต่อร่างกาย บางกลุ่มทำให้เกิดอาการท้องเสีย บางกลุ่มเป็นพิษต่อตับ ไต ในบางรายอาจมีปฏิกิริยาภูมิแพ้จากยา ทั้งแบบไม่รุนแรง หรือรุนแรงถึงชีวิต นอกจากนี้การใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่มีข้อบ่งชี้ ยังทำลายแบคทีเรียตัวดี ที่อาศัยอยู่ในร่างกายของเราด้วย  แบคทีเรียที่เก่งกาจทนต่อยา ก็จะพัฒนาตัวเองไปเป็น “เชื้อดื้อยา” ทำให้เกิดเชื้อดื้อยาเพิ่มมากขึ้น

มีน้ำมูกสีเขียวเหลืองต้องกินยาปฏิชีวนะทุกครั้งหรือเปล่า?
การเกิดน้ำมูกเปลี่ยนสี จากใสๆเป็นเขียวข้นหรือสีเหลือง ไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเสมอไป ในบางรายที่มีอาการหลอดลมอักเสบร่วมด้วย ก็อาจมีอาการเสมหะเหนียวข้นเขียวได้ หรือแม้กระทั่งเชื้อไวรัส ก็สามารถทำให้เกิดน้ำมูกเขียวได้ ดังนั้น การมีน้ำมูกเขียว ไม่ได้แปลว่าจะต้องกินยาปฏิชีวนะทุกครั้ง โดยแพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกายเพื่อให้การวินิจฉัย หากมีข้อบ่งชี้จะจ่ายยาอย่างเหมาะสม


สามารถป้องกันโรคหวัดได้อย่างไร
การรักษาร่างกายให้แข็งแรง และอบอุ่น นอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และอยู่ห่างไกลคนป่วย หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีคนมากๆ นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ จะสามารถป้องกันโรคหวัดจากไข้หวัดใหญ่ได้