อุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า (Rotavirus)


โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในเด็ก ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย นอกนั้นอาจเกิดจากการติดเชื้อปรสิต การรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารพิษจากแบคทีเรียหรือสิ่งแวดล้อม หรือยาบางชนิดที่มีผลข้างเคียงทำให้อุจจาระร่วงได้


ไวร้สโรต้าสำคัญอย่างไร
ไวรัสโรต้าเป็นสาเหตุสำคัญของโรคอุจจาระร่วงที่รุนแรงในเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ประมาณครึ่งหนึ่งของเด็กที่เข้านอนโรงพยาบาลด้วยโรคอุจจาระร่วงมีสาเหตุมาจากไวรัสโรต้า ไวรัสนี้มีหลายสายพันธุ์ ดังนั้นจึงสามารถเป็นซ้ำได้อีก แต่การติดเชื้อครั้งหลังๆ อาการจะไม่รุนแรงเท่าครั้งแรก ไวรัสนี้ระบาดได้ตลอดทั้งปีและพบมากขึ้นในช่วงอากาศเย็น ฤดูหนาว


ไวรัสโรต้าติดต่อกันได้อย่างไร
การติดต่อเกิดจากได้รับเชื้อไวรัสโรต้าเข้าสู่ปากโดยตรง โดยเชื้ออาจปนเปื้อนมากับมือ สิ่งของ เครื่องใช้หรือของเล่นต่างๆ รวมทั้งอาหารและน้ำ ผู้ป่วยที่เป็นโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าจะสามารถแพร่เชื้อออกมากับอุจจาระได้ตั้งแต่ 2 วันก่อนเริ่มมีอาการจนกระทั่งหายอุจจาระร่วงไปแล้ว 10 วัน บางรายอาจแพร่เชื้อได้เป็นเดือน 
โรคนี้ติดต่อกันได้ง่ายมาก ไวรัสจำนวนเพียง 10 ตัวก็สามารถก่อให้เกิดโรคได้ ในขณะที่อุจจาระผู้ป่วย 1 กรัม มีไวรัสโรต้าหลายล้านตัว อีกทั้งไวรัสนี้สามารถมีชีวิตอยู่บนมือ และสิ่งแวดล้อมได้นาน จึงก่อให้เกิดการแพร่กระจายและระบาดได้ง่าย 


อาการอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าเป็นอย่างไร
หลังรับไวรัสโรต้าเข้าไปในร่างกาย จะมีอาการป่วยได้ภายใน 2 วัน โดยมีความรุนแรงแตกต่างกันไป หากเป็นการติดเชื้อครั้งแรกจะมีอาการรุนแรงได้ ส่วนใหญ่มักมีอาการอาเจียนนำมาก่อน ต่อมามีถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำ อาการเป็นได้นาน 3-7 วัน ประมาณหนึ่งในสามของผู้ป่วยจะมีไข้สูง และอาจมีอาการชักได้ ในเด็กเล็ก ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจมีอาการรุนแรง สูญเสียน้ำและเกลือแร่ ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ ความดันโลหิตลดลง เกิดภาวะช็อก และเสียชีวิตได้ สำหรับผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสโรต้า ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอุจจาระร่วงเล็กน้อย อย่างไรก็ตามสามารถก่อให้เกิดโรครุนแรงได้เช่นกัน
รู้ได้อย่างไรว่าลูกติดเชื้อไวรัสโรต้า

อาการและลักษณะอุจจาระของโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าไม่ได้มีลักษณะจำเพาะ จึงไม่สามารถแยกจากการติดเชื้ออื่นๆ ที่เป็นสาเหตุของอุจจาระร่วงได้ ต้องอาศัยการตรวจอุจจาระทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาเชื้อไวรัสโรต้า 


โรคนี้รักษาอย่างไร
ในปัจจุบันไม่มียารักษาจำเพาะสำหรับไวรัสโรต้า การรักษาจึงเป็นแบบประคับประคองตามอาการ หากอาการไม่รุนแรง สามารถรับประทานได้ อาจให้ดื่มน้ำเกลือแร่ เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ให้ยาแก้อาเจียน ยาลดไข้ หากพบมีภาะพร่องเอนไซม์แลคเตส อาจพิจารณาเปลี่ยนนมเป็นนมที่ไม่มีน้ำตาลแลคโตส 

ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพราะไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้และอาจก่อให้เกิดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาตามมา ในกรณีที่มีไข้สูง อาเจียนมาก รับประทานไม่ได้ อ่อนเพลีย ซึมลง ให้รีบพามาพบแพทย์ ผู้ป่วยที่มีอาการสูญเสียน้ำรุนแรง จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อให้สารน้ำทดแทนทางเส้นเลือด


มีวิธีป้องกันให้ลูกน้อยห่างไกลจากเชื้อไวรัสโรต้าได้อย่างไร
เนื่องจากไวรัสโรต้าติดต่อกันทางสัมผัสเชื้อโดยตรงหรือทางอ้อมผ่านมือ สิ่งของ และอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าปาก การส่งเสริมให้มีสุขอนามัยที่ดี หมั่นล้างมือด้วยสบู่ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังการขับถ่ายหรือเปลี่ยนผ้าอ้อม ทำความสะอาดของเล่น หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ในการรับประทานอาหารร่วมกัน หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในสถานที่แออัดที่มีการเล่นร่วมกันในช่วงที่มีการระบาดของโรค อาจช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อได้ นอกจากนี้การกินนมแม่ อาจช่วยลดความรุนแรงของโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าได้  

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีสุขอนามัยที่ดี แต่ก็ยังสามารถติดเชื้อไวรัสโรต้าได้ เนื่องจากปริมาณเชื้อเพียงเล็กน้อยก็สามารถก่อโรคได้ อีกทั้งเชื้อมีความคงทนอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ยาวนาน จึงเป็นการยากที่จะป้องกัน ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดคือ การเตรียมบุตรหลานให้มีภูมิคุ้มกันด้วยการรับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าตั้งแต่วัยทารก


วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโรต้า
วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโรต้าผลิตจากเชื้อไวรัสโรต้าที่ทำให้อ่อนฤทธิ์จนก่อโรคไม่ได้  เป็นวัคซีนชนิดรับประทาน ปัจจุบันมี 2 บริษัทผู้ผลิต คือ RotarixTM หยอด 2 ครั้ง เมื่ออายุ 2 และ 4 เดือน และ RotateqTM หยอด 3 ครั้ง เมื่ออายุ 2, 4, 6 เดือน วัคซีนทั้งสองชนิดมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงไม่แตกต่างกัน โดยมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโรต้าที่รุนแรงได้ดีใกล้เคียงกันประมาณร้อยละ 85-98 วัคซีนมีความปลอดภัยสูง พบผลข้างเคียงได้น้อย เช่น ถ่ายอุจจาระเหลว อาเจียน ซึ่งอาการจะไม่รุนแรง แม้ว่าจะมีรายงานการเกิดลำไส้กลืนกันหลังจากหยอดวัคซีน แต่พบได้ในอัตราที่น้อยมากประมาณ 1-5 คนใน 100,000 ราย ซึ่งเป็นโรคที่รักษาได้ เมื่อคำนึงถึงประโยชน์จากวัคซีนในการป้องกันโรคแล้ว ถือว่าสูงกว่าเมื่อเทียบกับผลข้างเคียงที่พบได้น้อยมาก องค์การอนามัยโลกจึงแนะนำว่า เด็กเล็กทุกคนควรได้รับการหยอดวัคซีนนื้ตั้งแต่อายุ 2 เดือน โดยให้พร้อมกับวัคซีนอื่นๆ ตามวัย เด็กที่ได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าครบแล้ว อาจยังเกิดโรคอุจจาระร่วงจากการติดเชื้อไวรัสโรต้าได้ แต่อาการมักไม่ค่อยรุนแรง