การป้องกันมาลาเรีย และหลักการใช้ยาป้องกันมาลาเรีย


การป้องกันมาลาเรีย และหลักการใช้ยาป้องกันมาลาเรีย

วัชรพงศ์ ปิยะภาณี
ภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน
คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล


บทนำ

โรคมาลาเรียเป็นโรคติดต่อสำคัญที่นำโดยยุงก้นปล่อง แม้ว่าในช่วง 10-20 ปีหลัง อุบัติการของโรคมาลาเรียทั่วโลกได้ลดลงมาก แต่โรคนี้ยังนับว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในทวีปแอฟริกา บางส่วนของอเมริกาใต้ และเอเซีย

สำหรับประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคมาลาเรียลดลงทุกปี และกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายกำจัดโรคมาลาเรียให้หมดจากประเทศไทยในปี 2067 ปัจจุบันพบการระบาดของโรคมาลาเรียเฉพาะตามแนวชายแดนในป่า เกาะต่างๆและภูเขา ไม่พบโรคมาลาเรียในเขตเมือง

อย่างไรก็ตามเนื่องจากโรคมาลาเรียเป็นโรคร้ายแรง และสามารถทำให้เสียชีวิตได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที ประชาชนทั่วไปควรต้องรู้วิธีป้องกันโรคมาลาเรีย และตระหนักว่าตนเองสามารถติดเชื้อมาลาเรียได้ถ้าเดินทางเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเดินทางไปในทวีปแอฟริกา และประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกตอนใต้ ส่วนการเดินทางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมาลาเรียต่ำกว่า

หลักทั่วไปในการป้องกันโรคมาลาเรียในนักเดินทาง (ABCD)

1. ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคมาลาเรีย (Awareness) เป็นสิ่งแรกที่สำคัญ ต้องให้นักเดินทางที่จะเข้าพื้นที่เสี่ยงมีความรู้ ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับโรคมาลาเรีย

2. แนะนำป้องกันไม่ให้ยุงกัด (Bite Prevention) เป็นการป้องกันโรคมาลาเรียที่ดีที่สุด นักเดินทางควรรู้วิธีการป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยการใช้ยากันยุงที่เหมาะสม นอนในมุ้ง สวมเสื้อผ้าแขนยาว ขายาว ฯลฯ

3. ใช้ยาป้องกันมาลาเรียเฉพาะเมื่อจำเป็น (Chemoprophylaxis when appropriate)จะกล่าวรายละเอียดต่อไป

4. ถ้าสงสัยมาลาเรีย ต้องรีบวินิจฉัยและรักษา (Early Diagnosis) แพทย์ต้องแนะนำว่า ถ้านักเดินทางมีอาการไข้หลังจากการเดินทางในพื้นที่เสี่ยงต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจเชื้อมาลาเรียเสมอ 


หลักการพิจารณาใช้ยาป้องกันมาลาเรีย

1. พิจารณาว่านักเดินทางมีความเสี่ยงในการติดโรคมาลาเรียหรือไม่ และมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด โดยพิจารณาให้ครอบคลุมทุกปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ระบาดวิทยาของมาลาเรียในพื้นที่นั้นๆ ระยะเวลาที่จะเดินทางไป กิจกรรมที่จะทำ ฯลฯ มีข้อมูลควรทราบในเบื้องต้นคือ

· ประเทศที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อมาลาเรียคือ ประเทศในแถบแอฟริกาบริเวณที่อยู่ใต้ทะเลทรายซาฮาราลงมา (Sub-Saharan Africa) และประเทศในแถบหมู่เกาะแปซิฟิก เช่น ปาบัวนิวกีนี หมู่เกาะโซโลมอน ถ้าไม่ได้กินยาป้องกันมาลาเรียจะความเสี่ยงอาจสูงถึง 1-3% ต่อเดือน และส่วนทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงและอเมริกาใต้มีความเสี่ยงในการติดโรคมาลาเรียต่ำกว่ามาก

· การถามแผนการเดินทางว่านักท่องเที่ยวจะไปเที่ยวประเทศไหนยังไม่พอ เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่มีพื้นที่ที่เสี่ยงในการติดเชื้อมาลาเรียไม่ได้ครอบคลุมทั้งประเทศ เช่นถ้าเดินทางไปประเทศเปรู และเที่ยวเฉพาะเมืองคุซโก มาชูปิกชู พื้นที่ดังกล่าวไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อมาลาเรีย แต่ถ้าเดินทางไปเที่ยวบริเมณป่าอเมซอนเช่นเมือง Iquitos จะมีความเสี่ยงในการติดโรคมาลาเรีย

· แพทย์สามารถสืบค้นข้อมูลที่แสดงว่าประเทศใดหรือพื้นที่ใดมีความเสี่ยงในการติดโรคมาลาเรียสูงแค่ไหน ได้จาก CDC Yellow Book 2018 หรือที่ URL https://wwwnc.cdc.gov/travel

2. ถ้าประเมินแล้วพบว่าการเดินทางครั้งนี้มีความเสี่ยงต่ำ ให้เน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคมาลาเรีย ให้คำแนะนำเรื่องการป้องกันยุง และสังเกตุอาการและอาการแสดงของโรคมาลาเรีย

3. ถ้าประเมินแล้วพบว่ามีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อมาลาเรีย ให้พิจารณาชนิดและแบบแผนการดื้อยาของพื้นที่นั้นๆว่า มีการระบาดของเชื้อมาลาเรียชนิดไหน และดื้อยาชนิดอะไรบ้าง และพิจารณาเลือกใช้ยาเป็นรายบุคคล โดยดูข้อบ่งชี้ ข้อห้าม ผลข้างเคียงตลอดจนราคายา และแนะนำตามความเหมาะสม สำหรับนักท่องเที่ยวที่มีการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยไม่แนะนำให้ใช้ยาป้องกันมาลาเรีย

4. แพทย์ต้องเน้นย้ำว่ายาป้องกันมาลาเรียทุกชนิดไม่สามารถป้องกันมาลาเรียได้ 100% แม้นักท่องเที่ยวจะกินยาป้องกันมาลาเรียอยู่ ยังมีโอกาสติดเชื้อมาลาเรียได้

5. แพทย์ต้องแนะนำให้สังเกตุอาการและอาการแสดงของโรคมาลาเรียเสมอ ต้องเน้นย้ำว่าถ้ามีไข้ เกิดขึ้นขณะหรือหลังจากเดินทางในพื้นที่เสี่ยง ต้องไปพบแพทย์ ให้ประวัติเดินทาง และต้องตรวจเลือดหามาลาเรียเสมอ

ยาป้องกันมาลาเรียที่มีใช้ในปัจจุบัน

1. Doxycycline

เป็นยาต้านจุลชีพ และสามารถใช้เพื่อป้องกันมาลาเรีย โดยขนาดที่ใช้เพื่อป้องกันคือ 100 mg วันละ 1 ครั้งโดยต้องกินก่อนที่จะเข้าพื้นที่เสี่ยง 1-2 วัน และกินทุกวันขณะอยู่ในพื้นที่เสี่ยง และเมื่อออกจากพื้นที่เสี่ยงแล้วต้องกินต่ออีก 1 เดือน ผลข้างเคียงจากยาที่พบได้บ่อย คือ คลื่นไส้ ปวดมวนท้อง ยานี้ห้ามใช้ในเด็กต่ำกว่า 8 ปี และหญิงตั้งครรภ์

2. Mefloquine

Mefloquine ขนาดที่ใช้คือ 1 เม็ด (250 mg) สัปดาห์ละหนึ่งครั้ง โดยต้องกินล่วงหน้า 2 สัปดาห์ก่อนเข้าพื้นที่เสี่ยง และต้องสัปดาห์ละ 1 เม็ดในขณะอยู่ในพื้นที่เสี่ยง และกินต่ออีก 4 สัปดาห์หลังจากออกจากพื้นที่เสี่ยงแล้ว ผลข้างเคียงของยา Mefloquine ที่สำคัญคือ อาการทางระบบประสาท เช่น นอนไม่หลับ ฝันร้าย ซึมเศร้า เห็นภาพหลอน ปัจจุบันมีที่ใช้น้อยลงเนื่องจากเชื้อมาลาเรียในหลายพื้นที่มีการดื้อยา Mefloquine

3. Atovaquone/Proguinil (Malarone®)

ยาชนิดนี้เป็นยาผสม 2 ชนิดรวมกันในเม็ดเดียวคือ Atovaquone ขนาด 250mg และ Proguinil ขนาด 100 mg ยาต้นแบบมีชื่อการค้าว่า Malarone® ยาชนิดนี้เป็นยาที่มีประสิทธิภาพดีในการป้องกันมาลาเรีย และมีผลข้างเคียงน้อย ต้องกินก่อนเข้าพื้นที่เสี่ยง 1-2 วันและกินวันละ1 เม็ดขณะอยู่ในพื้นที่เสี่ยง และเมื่อออกจากพื้นที่เสี่ยงแล้วต้องกินต่ออีก 7 วัน2 แต่มีราคาแพงมาก ปัจจุบันยานี้ในประเทศไทยขึ้นทะเบียนเป็นยาควบคุมเฉพาะ ไม่มีใช้ในโรงพยาบาลทั่วไป


รายละเอียดและวิธีการใช้ยาป้องกันมาลาเรีย แต่ละชนิด สรุปได้ตามตารางที่ 1 

ตารางที่ 1 รายละเอียดของยาป้องกันมาลาเรียชนิดต่างๆ

ชนิดของยา

ขนาดของยาละวิธีการกินยาเพื่อป้องกันมาลาเรีย

ผลข้างเคียงที่พบบ่อย

ข้อห้ามใช้

หมายเหตุ

Doxycycline

· ยาขนาดเม็ดละ 100 mg

· กินวันละ 1 เม็ด 1-2 วันก่อนเดินทางเข้าพื้นที่เสี่ยง และกินทุกวันวันละเม็ดตลอดช่วงเวลาที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง และกินต่ออีก 4 สัปดาห์หลังจากออกจากพื้นที่เสี่ยงแล้ว

· คลื่นไส้ อาเจียน อาเจียน จุก เสียดบริเวณยอดอก ปวดมวนท้อง

· หลอดอาหารอักเสบ

· ผื่นแพ้แสง

· เชื้อราในช่องคลอด

· หญิงตั้งครรภ์

· หญิงในนมบุตร

· เด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี

· ผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้

· แนะนำให้ยาพร้อมอาหาร และดื่มน้ำตามมากๆ ไม่ควรกินยาก่อนนอน เพื่อลดผลข้างเคียงในระบบทางเดินอาหาร

· อาการผื่นแพ้แสงจากยา มักพบในชาวตะวันตกมากกว่าชาวเอเชีย เมื่อใช้ยานี้ควรแนะนำให้ทาครีมกันแดด

Mefloquine

· ยาขนาดเม็ดละ 250 mg

· กินสัปดาห์ละ 1 เม็ด เริ่มกิน 2 สัปดาห์ก่อนเข้าพื้นที่เสี่ยง และกินสัปดาห์ละเม็ดตลอดเวลาที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง และกินต่ออีก 4 สัปดาห์หลังออกจากพื้นที่เสี่ยง

· ขนาดยาในเด็ก 9kg 5mg/kg สัปดาห์ละครั้ง

§ 9-19 กิโลกรัม ¼ เม็ดสัปดาห์ละครั้ง

§ 19-30 กิโลกรัม ½ เม็ดสัปดาห์ละครั้ง

§ 30-45 กิโลกรัม ¾ เม็ดสัปดาห์ละครั้ง

§ >45 กิโลกรัม 1 เม็ดสัปดาห์ละครั้ง

· มักพบอาการทางระบบประสาท เช่น มึนงง ปวดศีรษะ ตาพร่า นอนไม่หลับ ฝันร้าย ซึมเศร้า

· คลื่นไส้ อาเจียนปวดท้อง

· ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคทางจิตประสาท เช่น โรคซึมเศร้า โรคลมชัก โรควิตกกังวล โรคจิตเภทฯลฯ

· ผู้ป่วยที่มีการเต้นของหัวใจผิดปกติ

· ไม่แนะนำให้ใช้ในบริเวณที่มีการดื้อยา Mefloquine เช่น ชายแดนไทย-พม่า

· ต้องอธิบายผลข้างเคียงทางจิตประสาทให้นักท่องเที่ยวและเพื่อนร่วมทางฟังทุกครั้ง ถ้ามีอาการผิดปกติดังกล่าวให้รีบหยุดยาทันที

Atovaquone-proguanil

· เป็นยาสูตรผสม ประกอบด้วย Atovaquone 250 mg และ Proguinil 100 mg ในหนึ่งเม็ด

· กินวันละ 1 เม็ด 1-2 วันก่อนเดินทางเข้าพื้นที่เสี่ยง และกินทุกวันวันละเม็ดตลอดช่วงเวลาในพื้นที่เสี่ยง และกินต่ออีก 7 วันหลังออกจากพื้นที่เสี่ยง

· ขนาดยาในเด็ก 5-8 kg 1/8 เม็ด วันละครั้ง

§ 8-10 กิโลกรัม 3/16 เม็ดวันละครั้ง

§ 10-20 กิโลกรัม ¼ เม็ดวันละครั้ง

§ 20-30 กิโลกรัม ½ เม็ดวันละครั้ง

§ 30-40 กิโลกรัม ¾ เม็ดวันละครั้ง

§ >40 กิโลกรัม 1เม็ดวันละครั้ง

· คลื่นไส้

· อาเจียน

· หญิงตั้งครรภ์

· หญิงให้นมบุตร

· ผ้ป่วยไตวายที่มี CrCl<30ml/min

· ผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้

· แนะนำให้กินยาพร้อมอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีนมผสม จะช่วยเพิ่มการดูดซึมยา

· เป็นยาควบคุมเฉพาะ มีใช้ในบางโรงพยาบาลเท่านั้น



Reference:

  1. Asking H, Nilsson J, Tegnell A, Janzon R, Ekdahl K. Malaria risk in travelers. Emerg Infect Dis 2005; 11:436-41.
  2. Keystone J. Preventing malaria in international travelers. J Travel Med 2001; 8:S41-7.

3. วัชรพงศ์ ปิยะภาณี หลักการประเมินความเสี่ยงและป้องกันมาลาเรียในนักเดินทาง ใน วัชรพงศ์ ปิยะภาณี พรเทพ จันทวานิช บรรณาธิการ. Travel Medicine เวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว. กรุงเทพมหานคร: เนติกุลการพิมพ์ 2561. น. 150-159.

  1. Schlagenhaul P, Kain KC. Malaria Chemoprophylaxis. In: Keystone JS, Freedman DO, Kozarsky PE, Connor BA, Nothdurft HD, editors. Travel Medicine third edition. Mosby Elsevier. 2013: 143-62.
  2. Centers for Disease Control and Prevention. CDC Health Information for International Travel 2018. Atlanta: U.S. Department of Health and Human Services, Public Health Service. Available online: https://wwwnc.cdc.gov/travel/page/yellowbook-home

6. วัชรพงศ์ ปิยะภาณี หลักการใช้ยาป้องกันมาลาเรียในนักเดินทาง ใน วัชรพงศ์ ปิยะภาณี พรเทพ จันทวานิช บรรณาธิการ. Travel Medicine เวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว. กรุงเทพมหานคร: เนติกุลการพิมพ์ 2561. น. 160-170