คำแนะนำประชาชน เรื่อง การนำวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกมาใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันควบคุมโรคในประเทศไทย


Capture.JPG

โรคไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ซึ่งนำโดยยุงลาย โดยเฉพาะยุงลายตัวเมียที่ชอบหากินในเวลากลางวัน ผู้ที่ถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่กัดอาจเกิดการติดเชื้อและมีอาการได้ ตั้งแต่ไม่มีอาการ มีอาการไข้ไม่รุนแรง หรือจนถึงขั้นป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกซึ่งมีอาการมีไข้สูง มีการรั่วของน้ำเลือดจนอาจทำให้ ผู้ป่วยมีภาวะช็อกจนเสียชีวิต นอกจากนี้อาจเกิดอาการเลือดออกและมีภาวะแทรกซ้อนที่อวัยวะต่างๆ เช่น อาการทางสมอง หรือ ตับ เป็นต้น

ไวรัสเดงกี่

ไวรัสเดงกี่ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออกนั้น มี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ไวรัสเดงกี่สายพันธุ์ 1, 2, 3 และ 4 ซึ่งคนคนหนึ่งสามารถติดเชื้อไวรัสเดงกี่ซ้ าได้หลายครั้ง การติดเชื้อไวรัสเดงกี่ครั้งแรกมักมีอาการไม่รุนแรง แต่การติดเชื้อซ้ำในครั้งหลังนั้นผู้ติดเชื้อมีโอกาสที่จะป่วยเป็นไข้เลือดออกได้ โดยเฉพาะการติดเชื้อไข้เลือดออก สายพันธุ์ที่ 2 มักทำให้ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกที่มีความรุนแรงมากที่สุด

ปัญหาโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย  

สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกในประเทศไทยในปัจจุบัน พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยมากกว่าในอดีต แต่มีอัตราป่วยตายลดลง เนื่องจากเทคโนโลยีการรักษาที่ดีขึ้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 5-24 ปี โดยมีแนวโน้มผู้ใหญ่ป่วยมากขึ้นกว่าในอดีต จากผลการตรวจสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสเดงกี่ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในรอบ 10 ปีพบว่า เชื้อไวรัสเดงกี่ทุกสายพันธุ์มีการหมุนเวียนสลับกันไปแล้วแต่ช่วงเวลา ในขณะที่มีการตรวจพบลูกน้ำยุงลายได้ในทุกพื้นที่ของประเทศไทยในระดับค่อนข้างสูงกว่าเกณฑ์  

มาตรการป้องกันควบคุมโรคโดยใช้วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก  

ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจำนวน 1 ชนิด โดยมีชื่อการค้าว่า เดง-แวก-เซีย (Dengvaxia®) กำหนดการฉีด 3 เข็ม ที่ 0, 6 และ 12 เดือน โดยกำหนดให้ฉีดแก่บุคคลอายุ 9 - 45 ปี วัคซีนนี้เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลงจนไม่ก่อโรค แต่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันโรค  วัคซีนดังกล่าวสามารถกระตุ้นภูมิได้ดี หากเป็นผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสเดงกี่มาก่อน ผลจากการวิจัยพบว่า วัคซีนสามารถลดการป่วยจากไวรัสเดงกี่รวมโดยไม่แยกสายพันธุ์ของเชื้อในเด็กอายุ 9-16 ปี ได้ร้อยละ 65.6 หากแยกตามสายพันธุ์สามารถลดการป่วยจากไวรัสเดงกี่สายพันธุ์ที่ 1 2 3 และ 4 เท่ากับ ร้อยละ 58.4 ร้อยละ 47.1 ร้อยละ 73.6 และ ร้อยละ 83.2 ตามลำดับ นอกจากนี้ วัคซีนสามารถลดการนอนโรงพยาบาล จากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ได้ ร้อยละ 80.8 และลดการป่วยรุนแรงจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ได้ ร้อยละ 92.9  

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่ได้รับวัคซีนที่มีและไม่มีภูมิต่อไวรัสเดงกี่มาก่อน พบว่า การฉีดวัคซีนในผู้ที่มีภูมิต่อไวรัสเดงกี่อยู่แล้ว สามารถลดการป่วยจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ได้ ร้อยละ 81.9 ในขณะที่ผู้ที่ไม่มีภูมิมาก่อนเมื่อได้รับวัคซีน จะสามารถลดการป่วยจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ได้ ร้อยละ 52.5  

ข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกเรื่องวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก

องค์การอนามัยโลกให้ข้อแนะนำที่สำคัญว่า หากประเทศใดต้องการนำวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก มาใช้ในระดับประเทศ ควรพิจารณาใช้วัคซีนในพื้นที่ที่มีการเกิดโรคสูง ทั้งนี้ประเทศจะได้รับประโยชน์ จากวัคซีนสูงสุด หากความชุกต่อการติดเชื้อไวรัสเดงกี่และอยู่ในระดับมากกว่าร้อยละ 70 แต่หากความชุก อยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 50 แล้ว ไม่ควรนำวัคซีนมาใช้ทั่วไป นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก ยังได้เน้นย้ำว่า การใช้วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของมาตรการป้องกันโรค ไข้เลือดออกแบบองค์รวม กล่าวคือ ประเทศยังคงต้องเร่งรัดมาตรการควบคุมกำจัดลูกน้ำยุงลายและยุงตัวแก่ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถป้องกันประชาชนจากการป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกได้อย่างแท้จริง  

ข้อแนะนำของกรมควบคุมโรคเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก

กรมควบคุมโรค ภายใต้ข้อแนะนำจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เล็งเห็นว่าวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกเป็นความหวังที่สำคัญในการป้องกันโรคไข้เลือดออกของประเทศไทย แต่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนการพิจารณานำวัคซีนดังกล่าวมาใช้ในเชิงสาธารณะ หรือในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน โดยใช้ข้อมูลความชุกต่อการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ในประชากรไทยกลุ่มอายุต่างๆ อยู่ก่อนแล้ว มาประกอบการพิจารณาเพื่อหากลุ่มอายุที่เหมาะสมแก่การให้บริการวัคซีน  โดยในขณะนี้กรมควบคุมโรคอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลดังกล่าว นอกจากนี้ ต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ในภาพรวมของประเทศ และผลกระทบเชิงงบประมาณที่จะเกิดขึ้นเมื่อนำวัคซีนมาใช้ด้วย อย่างไรก็ดี หากประชาชนสนใจที่จะได้รับวัคซีนดังกล่าวอาจขอคำปรึกษาจากแพทย์  และพิจารณาถึงประโยชน์ที่จะได้รับว่าคุ้มค่าหรือไม่ ก่อนตัดสินใจรับวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก  

นอกเหนือจากการใช้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคแล้ว กรมควบคุมโรค ขอเน้นย้ำให้ประชาชนทุกคนให้ความสำคัญกับการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายและกำจัดยุงลายตัวแก่ในครัวเรือน รวมถึงป้องกันยุงกัดอยู่เสมอ เนื่องจากวัคซีนเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งในการป้องกันโรคไข้เลือดออกเท่านั้น

หากมีข้อสงสัย อาจสอบถามได้ที่ กองโรคป้องกันด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 02-590-3196 

รวบรวมและเรียบเรียงโดย : กองโรคป้องกันด้วยวัคซีน  กรมควบคุมโรค