ทราบ หรือไม่ว่าโรคหัดและโรคหัดเยอรมัน เกิดขึ้นบ่อยในช่วงอากาศหนาวเย็นเช่นนี้ ที่สำคัญคือหากติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์จะส่งผลให้ทารกพิการได้ วันนี้เรามาทำความรู้จักเพื่อเตรียมป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของเจ้าโรคหัด ทั้งสองนี้กันค่ะ
โรคหัด (Measles หรือ Rubeola) เกิด จากเชื้อไวรัสรูบิโอลา (rubeola virus) พบมากในน้ำลายของผู้เป็นโรคหัด ติดต่อได้ง่ายและรวดเร็วมาก โดยการไอ จาม หายใจรดกัน หรือใช้สิ่งของร่วมกัน โรคหัดเกิดได้กับทุกอายุและพบบ่อยในเด็กที่อายุระหว่าง 2 ถึง 14 ปี แต่ไม่ค่อยพบในทารกที่อายุน้อยกว่า 6 ถึง 8 เดือนเนื่องจากทารกเหล่านี้มีภูมิต้านทานที่ได้รับจากแม่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โรคนี้พบได้ตลอดปี ส่วนมากเกิดในช่วงฤดูหนาวจนถึงต้นฤดูร้อน โดยเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์และเดือนสิงหาคม ในปี พ.ศ.2553 สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานผู้ป่วยโรคหัดจำนวน 2,583 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 4.05 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน และพบว่าเกิดโรคแทรกซ้อนถึงร้อยละ 10.88 แต่โชคดีที่ไม่มีผู้เสียชีวิต ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2544 ถึง พ.ศ. 2553 พบว่าแนวโน้มอัตราผู้ป่วยจะสูงอยู่ 2 ช่วง ในปี พ.ศ. 2545 อัตราป่วย 16.49 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน ในปี พ.ศ. 2553 เกิดโรคหัดระบาด 3 ครั้ง คือ ภายในค่ายอพยพพนุโพธิ์ ค่ายผู้อพยพแม่หละ และกลุ่มทหารภายในกรมทหารราบที่ 11
ผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการระบาด ของโรค นอกจากนี้ผู้ที่อาศัยอยู่รวมกันหนาแน่น หรือในศูนย์อพยพ วัด โรงเรียน ฯลฯ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อโรคหัดได้
อาการ
เมื่อร่างกายได้รับเชื้อโรคหัดเข้าไปประมาณ 7 วันจึงจะเริ่มมีอาการ ช่วงแรกอาการคล้ายไข้หวัด และมีไข้สูงตลอดเวลา รับประทานยาลดไข้แล้วไข้ก็ไม่ลด อ่อนเพลีย ซึมลงหรือกระสับกระส่าย ร้องกวน เบื่ออาหาร น้ำมูกใส ไอแห้ง น้ำตาไหล ไม่สู้แสง หนังตาบวม บางรายอาจถ่ายเหลวบ่อยเหมือนท้องเดิน หรืออาจชักจากไข้ ต่อมาผื่นจะขึ้นเริ่ม ลักษณะเฉพาะของโรคหัดคือมีไข้สูง 3 ถึง 4 วันแล้วจึงเริ่มมีผื่นขึ้น ลักษณะผื่นเป็นจุดแดงเล็กๆ ขนาดเท่าหัวเข็มหมุด โดยเริ่มเห็นผื่นขึ้นที่บริเวณตีนผมและซอกคอก่อนเป็นอันดับแรก แล้วลามไปตามใบหน้า ลำตัวและแขนขา ผิวหนังโดยรอบอาจเป็นสีแดงระเรื่อ บางครั้งอาจมีอาการคันเล็กน้อย ผื่นจะไม่จางหายไปทันทีแต่จะใช้เวลาประมาณ 2 ถึง 3 วันนับจากวันแรกที่ผื่นเริ่มขึ้น หลังจากผื่นจางลง มักเปลี่ยนเป็นสีคล้ำในช่วงแรก โรคหัดส่วนใหญ่หายได้เองและเกิดโรคแทรกซ้อนน้อย
อาการแทรกซ้อน
มักพบในเด็กขาดสารอาหาร ร่างกายอ่อนแอ โรคแทรกซ้อนที่พบบ่อยคือ โรคปอดอักเสบ และโรคอุจจาระร่วง ซึ่งมักพบหลังผื่นขึ้น หรือเมื่อไข้เริ่มทุเลาแล้ว โรคแทรกซ้อนที่รุนแรงและทำให้เสียชีวิตได้คือ โรคสมองอักเสบ นอกจากนี้ขณะที่เป็นโรคหัด ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะลดลงทำให้มีโอกาสเป็นวัณโรคปอดได้ง่ายขึ้น
การรักษา
การป้องกัน
โดยปกติวัคซีนป้องกันโรคหัดเป็นวัคซีนตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขที่ ต้องฉีดให้เด็กทุกคนที่อายุระหว่าง 9 ถึง 12 เดือน ฉีดเพียงครั้งเดียวสามารถป้องกันโรคหัดได้ตลอดไป และให้ฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่อเด็กอายุ 4 ถึง 6 ปี วัคซีนป้องกันโรคหัดมีทั้งชนิดเดี่ยวและชนิดที่รวมกับวัคซีนป้องกันโรคหัด เยอรมันและโรคคางทูม (MMR) ในเข็มเดียวกัน ขอรับการฉีดวัคซีนดังกล่าวได้ที่สถานีอนามัยใกล้บ้านหรือโรงพยาบาลทั่วไป
โรคหัดเยอรมัน (Rubella)
โรคหัดเยอรมัน เกิดจากเชื้อไวรัสรูเบลล่า (Rubella) มักพบการระบาดในโรงเรียน โรงงาน สถานที่ ทำงาน และระบาดบ่อยช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน เชื้ออยู่ในน้ำมูก น้ำลาย ติดต่อกันได้โดยการไอ จาม หรือสัมผัสน้ำมูกน้ำลายที่มีเชื้อหัดเยอรมันอยู่ เชื้อนี้มีชีวิตอยู่ในร่างกายคนได้ถึง 1 ปี เมื่อติดเชื้อแล้วจะยังไม่เกิดอาการทันที ใช้เวลาประมาณ 14 ถึง 21 วันจึงเริ่มเกิดอาการ อย่างไรก็ตามพบว่าผู้ติดเชื้อส่วนมากมักไม่มีอาการใดๆ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยและหายได้เอง แต่ถ้าสตรีมีครรภ์ติดเชื้อโรคหัดเยอรมันในช่วงอายุครรภ์ 3 ถึง 4 เดือนแรก จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อทารกในครรภ์ ทำให้เด็กที่เกิดมาพิการ เช่น สมองฝ่อ หูหนวก ต้อกระจกตา โรคหัวใจ คนที่เคยเป็นโรคหัดเยอรมันแล้วจะมีภูมิคุ้มกันโรคนี้ไปตลอดชีวิต
อาการ
เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้ว ช่วงเวลาที่แพร่เชื้อได้มากที่สุดคือช่วง 2 หรือ 3 วันก่อนผื่นขึ้น และเมื่อผื่นขึ้นแล้วยังสามารถแพร่เชื้อได้อีกประมาณ 7 วัน ดังนั้นในช่วงดังกล่าวผู้ป่วยควรแยกตัวและไม่ไปคลุกคลีกับผู้อื่นเพราะ อาจกระจายเชื้อสู่ผู้อื่นได้โดยไม่ตั้งใจ
โรคแทรกซ้อน
ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดโรคแทรกซ้อนขณะติดเชื้อโรคหัดเยอรมัน โรคแทรกที่พบได้คือ สมองอักเสบ ข้อนิ้วมื้อนิ้วเท้าอักเสบ ผู้หญิงที่ติดเชื้อขณะตั้งครรภ์อาจทำให้ทารกที่เกิดมามีความพิการได้
การรักษา
โรคหัดเยอรมัน เป็นโรคที่ไม่มียาต้านไวรัส ถ้าเกิดในเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ไม่ตั้งครรภ์ ให้รักษาตามอาการ เช่น กินยาลดไข้ เช็ดตัวลดไข้ ดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ
กรณีที่เกิดการติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์โดยเฉพาะอายุครรภ์ 3 เดือนแรก แนะนำให้ไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจเลือดดูว่าเคยมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสหัด เยอรมันหรือไม่ กรณีตรวจไม่พบภูมิคุ้มกัน แนะนำให้ตรวจเลือดซ้ำอีกครั้ง ภายใน 2 ถึง 3 สัปดาห์ต่อมา ถ้าผลตรวจยังคงเป็นลบ ควรตรวจซ้ำอีกครั้งเมื่อ 6 สัปดาห์หลังสัมผัสโรค การตรวจเลือดทุกครั้งควรดูผลเลือดควบคู่กับผลเลือดที่เจาะครั้งแรกด้วยเสมอ กรณีที่ผลเลือดทุกครั้งให้ผลลบแสดงว่าไม่มีการติดเชื้อหัดเยอรมัน แต่ถ้าตรวจครั้งแรกให้ผลลบและครั้งต่อไปให้ผลบวกแสดงว่ามีการติดเชื้อ ซึ่งแพทย์จะแนะนำเรื่องความเสี่ยงที่จะเกิดกับทารกในครรภ์และอาจพิจารณาให้ ยุติการตั้งครรภ์
การป้องกันโรค
การแยกผู้ป่วย
ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นโรคหัดเยอรมัน ต้องอยู่แยกจากผู้อื่นโดยเฉพาะเมื่อมีผื่นขึ้นแล้วต้องอยู่ห่างผู้อื่นจนครบ 7 วันหลังผื่นขึ้น
สำหรับทารกที่ติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์และเกิดออกมามีความพิการ พบว่าเชื้อไวรัสหัดเยอรมันสามารถอยู่ในร่างกายทารกนั้นได้นานถึง 1 ปี จึงต้องแยกทารกออกจากเด็กอื่นเป็นเวลา 1 ปี หรือจนกว่าจะตรวจไม่พบเชื้อไวรัสภายในช่องจมูก ลำคอ และในปัสสาวะ เมื่ออายุ 3 ถึง 6 เดือน
ที่มา: ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ
ขอขอบคุณ
ที่ปรึกษาบทความ : นายแพทย์พรเทพ สวนดอก กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ
ที่มา: http://www.bangkokhealth.com/index.php/General-health/3741-Flu-Winter3.html