โรคที่มากับฤดูหนาว ตอนที่ 4: โรคไข้สุกใส

โรคที่มากับฤดูหนาว ตอนที่ 4: โรคไข้สุกใส

นอก เหนือจากโรคไข้หวัด โรคไข้หวัดใหญ่ โรคหัด โรคหัดเยอรมันแล้ว โรคสุกใสเป็นอีกโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยในช่วงหน้าหนาวนี้เช่นกัน บางท่านอาจไม่คุ้นว่าโรคสุกใสคืออะไร แต่ถ้าพูดว่า “อีสุกอีใส” ก็คงพอจะคุ้นหูกันมากกว่า สมัยก่อนโรคนี้ยังไม่มีทางป้องกัน แต่ปัจจุบันมีวัคซีนช่วยป้องกันให้เราปลอดภัยจากโรคนี้ได้ เรามาทำความรู้จักโรคสุกใสกันนะคะ

โรคไข้สุกใส (Chickenpox หรือ Varicella)

โรคอีสุกอีใสหรือไข้สุกใส ส่วนใหญ่เกิดกับเด็กเล็ก วัยรุ่น จนถึงวัยหนุ่มสาว แต่ถ้าเป็นในผู้ใหญ่แล้วมักจะมีอาการรุนแรงและมีโรคแทรกซ้อนมากกว่าในเด็ก เมื่อปี พ.ศ. 2553 สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานโรคสุกใสจำนวน 49,189 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 77.22 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมามีรายงานผู้เสียชีวิตปีละ 1 ถึง 3 ราย สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากมีโรคแทรกซ้อนเช่น ปอดอักเสบ และ/หรือ ตับอักเสบรุนแรง การระบาดมักพบในช่วงต้นปีตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน

โรคไข้สุกใสเกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ วาริเซลลา (Varicella virus) หรือ ฮิวแมนเฮอร์ปี่ไวรัส ชนิดที่ 3 (Human herpes virus type 3) ซึ่งเป็นเชื้อเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด ไวรัสชนิดนี้ติดต่อโดยการหายใจ ไอ จามรดกัน หรือการสัมผัสถูกตุ่มแผลสุกใสหรืองูสวัดโดยตรง หรือสัมผัสถูกของใช้ เช่น ที่นอน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ที่เปื้อนตุ่มแผลของผู้ป่วย

อาการ

เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายแล้วจะใช้เวลาประมาณ 10 ถึง 20 วันจึงจะเริ่มมีอาการ เช่น ไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่นำมาก่อน ต่อมาจึงเริ่มมีผื่นแดงที่อาจเกิดขึ้นพร้อมกับวันที่เริ่มมีไข้ หรือ 1 วันหลังจากมีไข้ จะเป็นผื่นแดงราบก่อนแล้วจึงเปลี่ยนกลายเป็นตุ่มนูนมีน้ำใสอยู่ภายในและมี อาการคัน ตุ่มน้ำใสนี้มักเริ่มขึ้นที่หนังศีรษะตามไรผมก่อนแล้วจึงลามไปที่ใบหน้า แผ่นหลัง ลำตัว แขนและขา ทยอยขึ้นเต็มที่ภายใน 4 วัน บางคนอาจมีตุ่มแผลขึ้นในช่องปาก ทำให้เจ็บคอ ลิ้นเปื่อย ปากเปื่อย อีกลักษณะที่สำคัญคือตุ่มนูนใสนี้มักจะไม่ขึ้นพร้อมกันทั่วร่างกาย ดั้งนั้นจึงพบว่าบางที่ขึ้นเป็นผื่นแดงราบ ในขณะที่อวัยวะส่วนอื่นขึ้นเป็นตุ่มนูนใส หรือบางที่เป็นตุ่มหนอง หรือบางที่ผื่นสุกที่เริ่มตกสะเก็ด เป็นที่มาของชื่ออีสุกอีใส

การรักษาและวิธีปฏิบัติตัว

  1. ผู้ที่เป็นโรคไข้สุกใสส่วนมากจะหายเองได้ แต่ต้องระวังอย่าให้เกิดโรคแทรกซ้อน
  2. โรคไข้สุกใสไม่มียาต้านไวรัส ดังนั้นการดูแลรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ เช่น เช็ดตัวลดไข้ ดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอกินยาลดไข้เฉพาะพาราเซตามอลเท่านั้น ห้ามกินยาลดไข้ชนิดแอสไพริน เนื่องจากทำให้ตับอักเสบรุนแรงได้
  3. ควรตัดเล็บให้สั้น หลีกเลี่ยงการแกะเกาตุ่มคันสุกใส เพราะนอกจากจะกลายเป็นแผลเป็นที่รักษายากแล้ว ยังทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในเล็บและผิวหนังจนเกิดโรคผิวหนังแทรกซ้อน ได้ นอกจากนี้เชื้อแบคทีเรียดังกล่าวอาจแพร่เข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะต่างๆ เช่นที่ปอดจนเกิดฝีในปอดได้
  4. รับประทานอาหารได้ตามปกติ ทั้งเนื้อนมไข่ เพื่อให้ร่างกายเสริมสร้างภูมิต้านทานต่อโรค แต่ควรลดอาหารรสจัดถ้ามีแผลในปาก
  5. โดยทั่วไปอาการไข้สุกใสจะค่อยๆ ทุเลาได้เองภายใน 1 ถึง 3 อาทิตย์ ในระยะนี้ให้ระวังโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้เช่น แก้วหูอักเสบ ปอดอักเสบ ตับอักเสบ หรือ ติดเชื้อในสมอง ดังนั้นเมื่อมีอาการปวดหู หรือไอ หายใจเหนื่อย เจ็บหน้าอก หรือ ตาเหลืองตัวเหลือง (ดีซ่าน) หรือ ปวดศีรษะมาก ซึมลง ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาเพิ่มเติม

การป้องกัน

1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยโรคสุกใสโดยตรง
2. ไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ช้อน จาน ชาม ฯลฯ
3. ควรทำร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
4. ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคสุกใส โดยสามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป และฉีดกระตุ้นซ้ำอีกครั้งเมื่อเด็กอายุ 4 ถึง 6 ขวบ ปัจจุบันมีวัคซีนรวมของสุกใสและหัด หัดเยอรมัน คางทูม (MMR) ทำให้ถูกฉีดวัคซีนน้อยครั้งลง

ที่มา: ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ

ขอขอบคุณ
ที่ปรึกษาบทความ : นายแพทย์พรเทพ สวนดอก กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ

ที่มา: http://www.bangkokhealth.com/index.php/General-health/3742-Flu-Winter4.html