เคล็ดลับรับมือไข้หวัดใหญ่


ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่ติดต่อกันได้ง่ายและรวดเร็ว มีการระบาดได้อย่างฉับพลัน ซึ่งหากร่างกายไม่แข็งแรงหรือมีภูมิต้านทานไม่เพียงพอ อาจทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อได้ง่าย ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูง ควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันป้องกันไวรัสร้ายไม่ให้คุกคาม... 


Q: ไข้หวัดใหญ่...เกิดจากอะไร
A: เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีชื่อว่า ไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) ซึ่งมี 3 กลุ่มใหญ่ด้วยกัน คือ A, Bและ C โดยกลุ่ม A และ B เป็นเชื้อก่อโรคที่พบได้บ่อย ทั้งนี้เชื้อไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา และมีการแพร่กระจายไปทั่วโลก การปรับตัวของเชื้อไวรัสทำให้เกิดการกลายพันธุ์ ซึ่งทำให้เกิดการระบาดได้ทุกปี สำหรับเมืองไทยไข้หวัดใหญ่เกิดได้ตลอดปี แต่มักระบาดมากในช่วงฤดูฝน


Q: ไข้หวัดใหญ่…ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างไร
A: ความรุนแรงของไข้หวัดใหญ่ส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง อาจทำให้ต้องหยุดเรียนหรือลางาน สามารถแพร่เชื้อไปยังบุคคลใกล้ชิด หากมีอาการรุนแรงมากโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง อาจก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้ ส่งผลให้ต้องพักรักษาตัวนาน และอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้


Q: ใครมีความเสี่ยงบ้างนะ...
A: เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่บุคคลที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งหากได้รับเชื้อแล้วอาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย ได้แก่
  •  เด็กเล็กอายุระหว่าง 6 เดือน – 5 ปี
  •  หญิงตั้งครรภ์
  •  ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี
  •  ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด หอบหืด โรคเบาหวาน โรคไต โรคซีด เป็นต้น
  •  ผู้ที่มีโรคเรื้อรังที่ต้องอาศัยอยู่ในสถานพักฟื้นหรือสถานเลี้ยงคนชรา
  •  ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ซึ่งเกิดการสำลักและปอดอักเสบได้ง่าย
  •  ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น โรคเอดส์ โรคมะเร็งได้ยาเคมีบำบัดหรือฉายแสง  โรคไตที่ได้ยากดภูมิคุ้มกัน 

Q: ไวรัสไข้หวัดใหญ่...ติดต่ออย่างไร
A: ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่มีการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจอย่างรวดเร็ว โดยไวรัสแพร่กระจายทางน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ เพียงแค่ไอหรือจาม เชื้อไวรัสนี้ก็จะลอยปะปนอยู่ในอากาศ หรือแม้การสัมผัสกับสิ่งที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น ผ้าเช็ดหน้า ช้อน หรือการจูบ เชื้อสามารถผ่านเข้าทางระบบทางเดินหายใจ ซึ่งหากใครร่างกายไม่แข็งแรง หรือเป็นบุคคลในกลุ่มเสี่ยง ก็จะมีความเสี่ยงติดเชื้อได้สูงและง่ายดาย


Q: ไวรัสร้าย...ก่อให้เกิดอาการอย่างไร
A: ระยะการฟักตัวของไข้หวัดใหญ่ใช้เวลาเฉลี่ย 1-3 วัน และเจ็บป่วยอยู่ประมาณ 5-7 วัน หลังจากที่อาการทุเลาลงผู้ป่วยอาจพักฟื้นอีกประมาณ 1 สัปดาห์
  • อาการทั่วไป มีไข้สูง39-40 องศาเซลเซียส  ไอมาก ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร คลื่นไส้ และอ่อนเพลีย อาการมักรุนแรงกว่าไข้หวัดอย่างชัดเจน
  • อาการแบบรุนแรง   พบในผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และเกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น การอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจ มีอาการเจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย หอบ ด้านระบบประสาท พบเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และสมองอักเสบ มีอาการปวดศีรษะมาก ซึมลง ด้านระบบทางเดินหายใจ มีหลอดลมอักเสบ และปอดบวม มีอาการแน่นหน้าอก  ไอมาก หอบเหนื่อย อาจทำให้รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

Q: ไวรัสตัวร้าย...ป้องกันได้ด้วยวัคซีน
A: ทางเลือกหนึ่งของการป้องกันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ได้รับการยอมรับในวงการแพทย์ทั่วโลกว่ามีประสิทธิภาพและปลอดภัยสูงคือ การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงดังกล่าว โดยมีการพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ให้สอดคล้องกับสายพันธุ์ที่ระบาดในแต่ละปีตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีประสิทธิภาพในการป้องกันได้นาน 1ปี ต่อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่กำลังระบาดในปีนั้นๆ จึงต้องฉีดซ้ำทุกปี โดยมีประสิทธิภาพในการป้องกันอยู่ที่ร้อยละ 70-90
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดพิเศษ (subunit vaccine) ที่ผลิตจากเฉพาะเปลือกนอกของไวรัส ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และมีผลข้างเคียงต่ำกว่าวัคซีนแบบเดิม


Q: วัคซีนไข้หวัดใหญ่...ฉีดเมื่อไหร่ถึงเหมาะ
A: การป้องกันที่เหมาะสม ควรฉีดวัคซีนปีละ 1 ครั้ง ในช่วง 1-2 เดือนก่อนฤดูการระบาดของไข้หวัดใหญ่ คือก่อนเข้าฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงต้นของการระบาด โดยที่ภูมิคุ้มกันโรคจะเกิดขึ้นหลังจากการฉีดวัคซีนประมาณ 14 วัน อย่างไรก็ตามไม่สายเกินไปที่จะฉีดวัคซีนแม้ว่าจะเริ่มมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่แล้วก็ตาม


ปิดท้ายด้วย Tip --- ดูแลตัวเองดี มีภูมิคุ้มกัน...ไม่หวั่นไวรัสร้าย

เราสามารถหนีห่างเจ้าไวรัสตัวร้ายได้ง่ายๆ ด้วยการดูแลร่างกายให้แข็งแรง หมั่นออกกำลังกายอย่างน้อยอาทิตย์ละ 3วัน ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารและดื่มน้ำสะอาดมากๆ รับประทานผักผลไม้ ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณชุมชนแออัด หรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย

กรณีต้องอยู่ร่วมกับผู้ป่วย - ใช้อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ เช่น สวมหน้ากากอนามัย  หรือใช้ผ้าเช็ดหน้าคาดปากและจมูก
-----------------------------------------------------------------------------------------------

ข้อมูลทางวิชาการโดย
นพ.พรเทพ  สวนดอก
กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาโรคติดเชื้อ
ศูนย์การแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ