สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย เดินหน้าเพิ่มภูมิคุ้มกันเด็กไทย สนับสนุนวัคซีนไฟเซอร์ฝาแดงสายพันธุ์ Omicron XBB.1.5 จำนวน 3,000 โดสให้กับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร
สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร รณรงค์ส่งเสริมให้เด็กไทยมีสุขภาพดี ห่างไกลโรคโควิด 19 ภายใต้กิจกรรม “สร้างเสริมภูมิคุ้มกันป้องกันโควิด19 ในเด็กเล็ก” รณรงค์เด็กเล็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปี รับวัคซีน โดยสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย สนับสนุนวัคซีนไฟเซอร์ ฝาแดงสายพันธุ์ Omicron XBB.1.5 พร้อมสร้างการรับรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องของวัคซีนป้องกันโควิด 19 ในเด็กเล็ก เพื่อลดการแพร่ระบาด ลดความรุนแรงของอาการ และลดการเสียชีวิต
นายแพทย์สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “สถานการณ์การติดเชื้อโควิด 19 ระลอกใหม่ในประเทศไทย ยังคงมีแนวโน้มการระบาดที่รุนแรง และพบว่ามีเด็กจำนวนมากที่ติดเชื้อ โควิด 19 โดยพบเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี มีอัตราการป่วยและติดเชื้อที่สูง โดยกิจกรรม “การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันป้องกันโควิด 19 ในเด็กเล็ก” นี้ ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ดี และรู้สึกยินดีที่มีโอกาสได้เห็นความตั้งใจ และการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐในการส่งเสริมคุณภาพเด็กไทยในการเข้าถึงวัคซีน โดยเฉพาะวัคซีนป้องกันโควิด 19 โดยวัคซีนวัคซีนไฟเซอร์ ฝาแดง สายพันธุ์ Omicron XBB.1.5 ที่ได้รับมอบจากสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย จำนวน 3,000 โดส ภายในเดือนสิงหาคมนี้ โดยมีแผนในการเริ่มส่งมอบวัคซีนในเดือนสิงหาคม ซึ่งจะพร้อมให้บริการในกลุ่มเด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปี ในศูนย์บริการสาธารณสุข กรุงเทพมหานครทั้ง 69 แห่ง โดยมีทีมกุมารแพทย์ รวมทั้งบุคลาการทางการแพทย์และสาธารณสุขให้ความรู้กับประชาชน พร้อมเฝ้าสังเกตอาการไม่พึงประสงค์หลังได้รับบริการอย่างใกล้ชิดเป็นอย่างน้อย 30 นาที เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของเด็ก และลดความกังวลของผู้ปกครอง พร้อมกันนี้ ได้เร่งทำการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้ปกครอง ได้มีความเข้าใจ และเชื่อมั่นในวัคซีนโควิด 19 ในกลุ่มเด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปี ที่ผู้ปกครองอาจมีความกังวลเป็นอย่างมาก ซึ่งการฉีดวัคซีนจะช่วยลดอาการป่วยหนัก และช่วยลดการแพร่เชื้อไปยังครอบครัว จึงอยากให้ผู้ปกครองรณรงค์ให้บุตรหลานได้เข้ารับวัคซีนเพื่อประโยชน์แก่ครอบครัวของเด็กเองและเพื่อสังคม และหวังว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะทำให้เด็ก ๆ ได้รับวัคซีนกันอย่างครอบคลุม เพื่อเป็นการสร้างภูมิต้านทานโรคโควิด 19 และให้เกิดความปลอดภัยทั่วประเทศ”
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงกุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า “สำหรับโรคอุบัติใหม่ในปัจจุบันอย่างโรคโควิด 19 นั้น สถานการณ์การระบาดยังไม่ได้หายไปไหน และยังคงส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ซึ่งถึงแม้ว่าตอนนี้ได้กลายเป็นโรคประจำถิ่นไปแล้วก็ตาม แต่ยังคงมีการระบาดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ทุกคน ทุกเพศ และทุกวัยมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้เท่า ๆ กัน แต่สำหรับเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี พบว่ามีการติดเชื้อในอัตราที่สูงกว่าช่วงอายุอื่น ๆ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี มีอัตราการนอนโรงพยาบาลที่สูงมากหากติดเชื้อโควิด 19 สมาคมฯ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานศูนย์กลางความรู้ทางด้านวิชาการโรคติดเชื้อเด็กรวมถึงมุ่งเน้นพัฒนาการดูแลรักษา และป้องกันโรคติดเชื้อในเด็ก ยังคงมีความมุ่งมั่นเดินหน้ารณรงค์และให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันในการป้องกันโรค และลดการเสียชีวิตจากโรคมาอย่างต่อเนื่อง และได้เล็งเห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กเล็ก จึงได้ร่วมมือกับ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ในการดำเนินกิจกรรม “สร้างเสริมภูมิคุ้มกันป้องกัน โควิด19 ในเด็กเล็ก” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ สร้างเสริมภูมิคุ้มกันต่อโรค โควิด19 ในเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน เพราะเมื่อเด็กได้รับวัคซีนแล้วแม้ต้องเผชิญการติดเชื้อตามธรรมชาติอาการก็จะไม่รุนแรง และลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคได้ ทั้งนี้ สมาคมฯ ให้การสนับสนุนส่งมอบวัคซีนโควิด 19 ไฟเซอร์ ฝาแดง สำหรับเด็กเล็ก สายพันธุ์ Omicron XBB.1.5 จำนวน 3,000 โดส และข้อมูลทางวิชาการ ให้กับ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เพื่อให้การเร่งรัดการฉีดวัคซีนเด็กเล็กในวงกว้าง บรรเทาการระบาดของโรค และทำให้เด็กเล็กของเราปลอดภัยจากโควิด 19 รุนแรง”
“สำหรับเด็กที่มีโรคประจำตัว หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง อาทิ โรคอ้วน โรคหายใจทางเดินเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคไตวายเรื้อรัง กลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ หรือเด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง แนะนำให้รับวัคซีนโควิด 19 ชนิด Monovalent XBB.1.5 ของ Pfizer BioNTech ในเด็ก 6 เดือน เป็นต้นไป ผู้ปกครองควรป้องกันตนเองและบุตรหลานจากการติดเชื้อโควิดด้วยการสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่แออัด การหลีกเลี่ยงไปสถานที่คนมาก ๆ การล้างมืออย่างสม่ำเสมอ แต่หากติดเชื้อโควิดขอให้สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด และหากมีอาการที่รุนแรง เช่น ไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียสต่อเนื่อง ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที ทั้งนี้ สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ร่วมกับวัคซีนชนิดอื่นได้ โดยไม่มีข้อจำกัดในการเว้นระยะห่างจากวัคซีนชนิดอื่น ๆ รวมถึงสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ภายในวันเดียวกันกับวัคซีนตามวัยอื่นได้อีกด้วย”