ข้อควรรู้สำหรับโนโรไวรัส (Norovirus)


ข้อควรรู้สำหรับโนโรไวรัส (Norovirus)

บทความโดย
รศ.พญ.พรอำภา บรรจงมณี
รศ.พญ.อัจฉรา ตั้งสถาพรพงษ์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


โนโรไวรัส (Norovirus) เป็นสาเหตุการระบาดของโรคกระเพาะและลำไส้อักเสบที่พบบ่อยทั่วโลก เกิดจากการกินอาหารน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ หรือผ่านการสัมผัสพื้นผิวที่มีการปนเปื้อนเชื้อ เช่น จาน ชาม ช้อน เป็นต้น ไวรัสชนิดนี้ระบาดได้ง่ายและรวดเร็วแม้จะได้รับเชื้อในปริมาณเพียงเล็กน้อย ที่สำคัญทนต่อความร้อนและน้ำยาฆ่าเชื้อต่าง ๆ ได้ พบการระบาดมากในฤดูหนาวโดยสามารถก่อโรคทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ได้มีประเด็นคำถามจากแพทย์เกี่ยวกับความชุก อาการ อาการแสดง การวินิจฉัยและการป้องกันการแพร่กระจายของโนโรไวรัสดังนี้

คำถามที่ 1 ความชุกของการติดเชื้อโนโรไวรัสในเด็กไทยเป็นอย่างไร

ตอบ มีการศึกษาโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ที่ประเทศบราซิล ชิลี ฟิลิปปินส์ และไทย พบว่าในกรณี outpatient setting ตรวจพบเชื้อโนโรไวรัสร้อยละ 23.8 ส่วน hospital setting ตรวจพบเชื้อโนโรไวรัสร้อยละ 17.9 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 21.4 ในกรณี nosocomial setting โดย genotype ที่พบมากที่สุดคือ GII.4 (ร้อยละ 58) รองลงมาได้แก่ GII.17B (ร้อยละ 11) GII.2 (ร้อยละ 5) และ GII.3 (ร้อยละ 5) ตามลำดับ นอกจากนี้ร้อยละ 4 ของสิ่งตรวจพบโรต้าไวรัส coinfection ร่วมด้วย

สำหรับในเด็กไทยยังไม่มีข้อมูล แต่มีรายงานการเฝ้าระวังเชื้อไวรัสก่อโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในผู้ป่วยไม่จำกัดช่วงอายุของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค โดยเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึง 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 มีจำนวนตัวอย่างผู้ป่วยอุจจาระร่วงเฉียบพลันส่งตรวจ 81 ตัวอย่าง ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ตรวจพบเชื้อไวรัสก่อโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน 53 ตัวอย่าง (ร้อยละ 65.43) เชื้อที่พบมากที่สุดได้แก่ Norovirus GII (ร้อยละ 31.67) รองลงมา คือ Rotavirus (ร้อยละ 30) Astrovirus (ร้อยละ21.67) Sapovirus (ร้อยละ 11.67) Adenovirus (ร้อยละ 3.33) และ Norovirus GI (ร้อยละ 1.67) ตามลำดับ

คำถามที่ 2 หากผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วย acute gastroenteritis อาการ อาการแสดงอะไรที่จะช่วงบ่งบอกว่าน่าจะเกิดจากการติดเชื้อโนโรไวรัส

ตอบ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโนโรไวรัสจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องเป็นอาการเด่น มักจะปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ จนบางคนเรียกว่า "stomach flu" พบถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำได้บ่อย และร้อยละ 50 ของผู้ป่วยจะมีไข้ร่วมด้วย อาการหายเองภายใน 48-72 ชั่วโมง ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่จำเพาะเจาะจง ดังนั้นหากแพทย์สงสัยการติดเชื้อโนโรไวรัส ในผู้ป่วยที่มีประวัติคลื่นไส้อาเจียนมากร่วมกับถ่ายเหลว และมีประวัติคนใกล้ชิดป่วยด้วยอาการเช่นเดียวกันหลายคน โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว ควรส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาเชื้อโนโรไวรัส

คำถามที่ 3 การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาเชื้อโนโรไวรัสมีอะไรบ้าง

ตอบ ปัจจุบันสามารถทำได้โดยตรวจหา viral RNA ของโนโรไวรัสในสิ่งส่งตรวจจากอุจจาระ อาเจียน อาหาร หรือน้ำ โดยวิธี TaqMan-based RT-qPCR assays หรือส่งตรวจอุจจาระโดยวิธี multiplex gastrointestinal platforms ซึ่งใน platforms นี้สามารถตรวจหา norovirus genogroup I และ II มีความไวและความจำเพาะสูงมาก แต่ต้องระมัดระวังในการแปลผลหากตรวจพบเชื้อก่อโรคหลายชนิด ส่วนการตรวจหา noroviral antigen โดยวิธี enzyme immunoassays (EIAs) มีความไวค่อนข้างต่ำประมาณร้อยละ 50-75 ดังนั้นหากตรวจด้วยวิธี EIA แล้วให้ผลลบในรายที่สงสัยโดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโรค ให้ส่งตรวจหา viral RNA ต่อไป

คำถามที่ 4 แนวทางการดูแลผู้ป่วยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโนโรไวรัสเป็นอย่างไร

ตอบ จากแนวทางของ US.CDC. และกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข มีแนวทางดังนี้

  1. ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโนโรไวรัสควรอยู่ห่างจากบุคคลอื่น ๆ จนกว่าอาการท้องเสียและอาเจียนเริ่มหายไปหมดแล้วอย่างน้อย 48 ชั่วโมง
  2. แอลกอฮอล์มีฤทธิ์น้อยในการทำลายโนโรไวรัส ดังนั้นพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่ดูแลผู้ป่วยควรหมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนสัมผัสอาหาร หลังจากเปลี่ยนผ้าอ้อมหรือทำความสะอาดห้องน้ำ
  3. ควรแยกของใช้ส่วนตัว ช้อน ส้อม และเครื่องใช้ในบ้านของผู้ป่วยจากสมาชิกคนอื่นๆ ในบ้าน
  4. ควรสวมถุงมือยางชนิดใส่ครั้งเดียวทำความสะอาดอุปกรณ์ และสิ่งของ พื้นผิวต่าง ๆ สถานที่ปนเปื้อน รวมทั้งเสื้อผ้าขยะติดเชื้อ เช่น ผ้าอ้อม ผ้าเปื้อนอาเจียนหรืออุจจาระด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของคลอรีน 1,000-5,000 ppm หรือใช้น้ำผสมน้ำยาซักผ้าขาว เช่น ไฮเตอร์ครึ่งฝาผสมในน้ำ 500-600 ซีซี แช่ทิ้งไว้ 30 นาที กรณีผ้าอ้อมสำเร็จรูปหลังจากแช่น้ำยาซักผ้าขาวแล้ว ให้แยกใส่ถุงขยะ 2 ชิ้น และรัดปากถุงให้แน่นใส่ในถังขยะ และจัดเก็บเป็นขยะติดเชื้อ
  5. ทำความสะอาดโถชักโครกให้สะอาดด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของคลอรีน 1,000-5,000 ppm โดยจุดสำคัญที่ต้องทำความสะอาดเป็นพิเศษ คือ ที่จับสายฉีดน้ำพื้นห้องส้วมที่รองนั่งส้วม ที่กดน้ำของโถส้วม ก๊อกน้ำ และกลอนประตู

คำถามที่ 5 วิธีป้องกันการติดเชื้อโนโรไวรัสมีอะไรบ้าง

ตอบ ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันโรค ดังนั้นการดูแลสุขอนามัย กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ จึงเป็นสิ่งสำคัญ การล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำอย่างน้อย 20 วินาที หลังการเข้าห้องน้ำหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก ก่อนทำอาหารหรือกินอาหาร การกินอาหารและน้ำที่สะอาดจะช่วยลดปัญหาการติดเชื้อได้