ข้อชี้แจงและข้อแนะนำสำหรับประชาชนเกี่ยวกับวัคซีนไข้เลือดออก


จากผลการประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนไข้เลือดออก ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กรมควบคุมโรค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีนมหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์วัคซีนมหาวิทยาลัยมหิดล ในวันที่ 7 ธันวาคม 2560 มีข้อสรุปดังนี้ 

1. การประชุมในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาข้อมูลใหม่ ที่ได้รับการเผยแพร่เบื้องต้นจากโครงการวิจัยโดยผู้ผลิตวัคซีนไข้เลือดออก ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการใช้วัคซีนไข้เลือดออกให้มีความปลอดภัยและเหมาะสม

2. ข้อมูลจากการศึกษาเดิม พบว่า โดยรวม วัคซีนให้ประโยชน์ในการป้องกันโรคได้ร้อยละ 65 ป้องกันการนอนโรงพยาบาลจากไข้เลือดออกได้รัอยละ 80 และป้องกันไข้เลือดออกรุนแรงได้ร้อยละ 93 

3. ข้อมูลจากผลการศึกษาใหม่เพิ่มเติมแสดงให้เห็นว่า วัคซีนไข้เลือดออกนี้ยังคงมีประโยชน์ในการป้องกันโรค ลดการนอนโรงพยาบาลและลดความรุนแรงของโรคในผู้รับวัคซีนที่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน แต่พบว่าผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน เมื่อได้รับวัคซีนนี้แล้วอาจจะมีความเสี่ยงต่อการนอนโรงพยาบาลจากโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับผู้ที่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อนที่จะได้รับวัคซีนนี้ ทั้งนี้การตัดสินใจรับวัคซีนดังกล่าวต้องจึงใช้ความระมัดระวังมากขึ้น

4. อย่างไรก็ตามจากผลการศึกษาก่อนหน้านี้ พบว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากโรคไข้เลือดออก ไม่ว่าจะเคยได้รับวัคซีนหรือไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนก็มีความรุนแรงของโรคไม่แตกต่างกัน

5. จากผลการศึกษาที่ผ่านมาในประเทศไทย พบว่าผู้ที่อายุ 9 ปีขึ้นไป มีความชุกของการติดเชื้อไข้เลือดออกสูง โอกาสที่ผู้ที่รับวัคซีนที่อายุ 9 ปีขึ้นไป จะเป็นผู้ที่ติดเชื้อมาก่อน จะค่อนข้างสูง ดังนั้นที่ประชุมจึงเสนอแนวทางปฏิบัติสำหรับประชาชน ดังนี้
  • ผู้ที่เคยเป็นโรคไข้เลือดออกมาก่อน แนะนำให้ฉีดวัคซีนนี้ได้
  • สำหรับผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน หรือไม่ทราบว่าเคยติดเชื้อมาก่อน รวมทั้งผู้ที่ได้รับวัคซีนมาก่อนแล้วแต่ยังไม่ครบและมีความประสงค์ที่จะได้รับวัคซีน ควรได้รับทราบความเสี่ยงและประโยชน์จากวัคซีนนี้ก่อนตัดสินใจฉีด (กล่าวคือหากเป็นผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน อาจเสี่ยงต่อการนอนโรงพยาบาลจากโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นประมาณ 5 ต่อ 1000 คนที่ได้รับวัคซีนนี้ในช่วง 5 ปีหลังฉีดวัคซีน หรือสูงกว่ากรณีถ้าไม่ฉีดวัคซีนนี้ 1.4 เท่า)

6. ประชาชนควรให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคไข้เลือดออกด้วยวิธีอื่นๆร่วมด้วย เช่น การป้องกันยุงกัด การกำจัดลูกน้ำยุงลาย เพื่อให้สามารถลดความเสี่ยงของการป่วยเป็นไข้เลือดออกได้สูงสุด